ผู้บริโภคเคราะห์ร้ายเจอแพทย์ทั่วไปอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญ อัดฟิลเลอร์เกินขนาดหวังเก็บค่าบริการเพิ่ม ซ้ำร้ายกฎหมายไทยอ่อนแอ ปล่อยผู้ประกอบการละเมิดสิทธิผู้บริโภคซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เรื่องเล่าผู้บริโภคครั้งนี้ เป็นเรื่องราวของผู้บริโภค ที่ไปใช้บริการคลินิกเสริมความงาม และได้รับผลกระทบจากการใช้บริการฉีดฟิลเลอร์เกิดขนาดโดยแพทย์ทั่วไป ส่งผลให้หน้าเบี้ยวและเกิดก้อนแข็งบริเวณแก้มข้างขวา และถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินกว่าที่ตกลงกันไว้ เพราะแพทย์ฉีดฟิลเลอร์ให้เกินกว่าที่ตกลง เมื่อได้รับปัญหาและไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงเข้ามาร้องเรียนที่สภาผู้บริโภค
“เดิมแจ้งแผนการรักษาก่อน โดยตกลงฉีดฟิลเลอร์ที่ 15 ซีซี แต่ฉีดจริงรวม 22 ซีซี เพิ่มจากที่ตกลงกันไปถึง 7 ซีซี โดยขณะทำการฉีดทางหมอคนนี้ ฉีดเพิ่มโดยไม่ได้ให้คนไข้ตัดสินใจ และขณะคนไข้ไม่ทราบว่าโดนฉีดไปแล้วกี่ซีซี อีกทั้งระหว่างทำการรักษาได้ยกมือขอหยุดฉีดเพราะเจ็บมาก แต่หมอไม่หยุดฉีดบอกให้อดทน เรารู้สึกว่าหมอคนนี้ไม่ได้ใส่ใจถึงความปลอดภัยของคนไข้ ไม่สนใจผลข้างเคียงหรือความเสียงที่จะเกิดขึ้นกับใบหน้าคนไข้เลย หวังเพียงแต่จะเอากำไรจากการขายฟิลเลอร์” ผู้บริโภคกล่าว
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายแบบเดียวกันอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียว่า
“เราก็เคยโดนแรก ๆ เราจะฉีดแค่ไต้ตา 1 ซีซี แต่พอไปถึงหมอให้ฉีด 7 ซีซี (ราคาจ่ายไป170,000บาท) พอฉีด เสร็จ 1 เดือน หน้าดูใหญ่มาก ๆ ก็เลยไปหาหมอที่อื่นสลายให้อีก 3 รอบ ถึงจะหน้ากลับมาดูปกติหมอคนนี้ไม่ไหว”
“นี่ก็เคยหลงไปครั้งหนึ่ง หมดไปเกือบสองแสน ต้องยอมรับเลยว่าเลือกที่นี่เพราะดาราใช้บริการเยอะ ทำให้เรามั่นใจ สุดท้ายเจ็บทั้งใจ เจ็บทั้งเงินในกระเป๋า”
“เคยไปฉีดฟิลเลอร์รอบนึงค่ะ เป็นการฉีดฟิลเลอร์ครั้งแรกในชีวิตด้วย กะจะฉีดแค่ร่องแก้ม แต่หมอป้ายยาฉ่ำมาก สุดท้ายโดนไป 12 ซีซี แสนกว่าบาท รอบเดียวไม่ไปอีกเลยค่ะ”
ทั้งนี้ นายแพทย์ที่ทำหัตถการนั้น เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่ได้รับอนุบัตรแพทย์ผู้ชำนาญการเรื่องเสริมความงาม ซึ่งการฉีดฟิลเลอร์นั้นควรกระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่ต้องเรียนหลักสูตรด้านแพทย์เฉพาะทางที่มีแพทยสภารับรอง เนื่องจาก หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตที่เรียน 6 ปีจบมาเป็นแพทย์ทั่วไป ไม่มีการสอนเกี่ยวกับการทำศัลยกรรม การฉีดฟิลเลอร์ หรือการฉีดโบท็อก มีเพียงแค่การสอนทำหัตถการอย่างเจาะเลือด ฉีดยา เท่านั้น
การที่แพทย์ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ จึงได้เกิดความผิดพลาดในบริการเสริมความที่ผู้บริโภคได้รับ ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดขึ้นจากการขาดการกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐที่ควรมีการตรวจสอบใบประกอบโรคศิลป์ของแพทย์ที่ทำหัตถการเสริมความงาม จึงทำให้เกิดการแอบอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญ และสร้างผลกระทบให้แก่ผู้บริโภค อีกทั้ง การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่จริงจัง บทลงโทษที่ไม่เข้มงวด และโทษปรับเล็กน้อยที่ไม่อาจหยุดการกระทำผิดได้ ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับความเสียหายโดยไม่ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม
ด้านสภาผู้บริโภค หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนได้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และแพทยสภา เพื่อให้ตรวจสอบใบอนุญาตคลินิกเวชกรรม แพทย์ผู้ดำเนินการ รวมทั้งยาที่ใช้ และจะมีการนัดประชุมคดีต่อไป ซึ่งหลังจากนี้หวังว่าหน่วยงานภาครัฐจะลุกขึ้นมาทำหน้าที่อย่างจริงจังเพื่อปกป้องสิทธิผู้บริโภค
สำหรับ ผู้บริโภคที่ต้องการใช้บริการเสริมความงาม ก่อนเข้าใช้บริการควรตรวจสอบเลขที่ใบอนุญาตการเปิดคลินิก กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพก่อนที่เว็บไซต์ https://hosp.hss.moph.go.th/ และตรวจสอบแพทย์ผู้ให้บริการร่วมด้วยที่เว็บไซต์ของแพทยสภา https://checkmd.tmc.or.th/
ท้ายสุด ขอฝากถึงผู้บริโภคที่กำลังเจอปัญหา ขอให้ลุกขึ้นมาร้องเรียนเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง อย่าปล่อยวางปัญหาที่เจอ เพราะเสียงหนึ่งเสียง อาจเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนางานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ สามารถร้องเรียนมาได้ที่ สภาผู้บริโภคได้ ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th โทรศัพท์ : 1502 หรือหน่วยงานประจำจังหวัดใกล้บ้านได้ที่ https://www.tcc.or.th/tcc-agency/