การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะเป็นสิ่งที่ทุกคนควรเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ ในราคาที่เป็นธรรม หากพบขายตั๋วเกินราคาอย่ายินยอม เก็บหลักฐานนำไปร้องเรียนได้เลย
เรื่องเล่าผู้บริโภคในครั้งนี้เป็นเรื่องของผู้บริโภคที่ต้องการจะเดินทางไปจังหวัดกระบี่โดยรถตู้และได้ซื้อตั๋วรถตู้จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี – กระบี่ ไปในราคา 400 บาท แต่คนขายตั๋วกลับไม่มีตั๋วให้เลย ทั้งนี้เมื่อผู้บริโภคแจ้งว่าต้องการเดินทางไปที่อ่าวนาง คนขับได้เรียกค่าโดยสารเพิ่ม 100 บาท และเมื่อถึงวันเดินทางกลับผู้บริโภครายนี้ได้มาขึ้นรถทัวร์ที่ขนส่งจังหวัดกระบี่และได้ลองเดินไปสอบถามราคาที่เคาน์เตอร์ขายตั๋วรถตู้สุราษฎร์ธานี – กระบี่ พบว่า ค่าโดยสารเพียง 200 บาท เมื่อพบว่าตัวเองโดนหลอก จึงร้องเรียนไปที่หน่วยงานประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี สภาผู้บริโภค
“เราเดินทางจากกรุงเทพฯ มาจังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยรถไฟ และต้องการต่อรถตู้เพื่อไปจังหวัดกระบี่ จึงได้ซื้อตั๋วที่สถานีเดินรถตลาดเกษตร 2 โดยจ่ายไป 400 บาทแต่ไม่มีตั๋วให้ ตอนนั้นคิดว่าราคาแพง แต่ด้วยความที่ไม่ใช่คนพื้นที่จึงไม่ได้สอบถามไป และเมื่อเดินทางถึงกระบี่ รถตู้ดังกล่าวได้จอดส่งผู้โดยสารบริเวณข้างขนส่งกระบี่และถามเราว่าจะไปลงที่ไหน เมื่อบอกว่าต้องการไปอ่าวนาง คนขับแจ้งว่าจะต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มอีก 100 บาท และแจ้งว่าถ้าเป็นชาวต่างชาติราคา 150 บาท สรุปว่าเราต้องจ่ายค่าโดยสารไปทั้งหมด 500 บาท” ผู้บริโภคเล่ารายละเอียดเพิ่มเติม
ด้านหน่วยงานประจำจังหวัดฯ เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนได้ทำหนังสือไปถึงสำนักงานขนส่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากเป็นหน่วยงานควบคุมดูแลระบบการขนส่งสาธารณะภายในจังหวัด และขอให้หน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาปัญหาการเรียกเก็บค่าโดยสารในราคาที่เกินจริง เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคในรายอื่น ๆ
ขณะที่สำนักงานขนส่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและให้พนักงานขายตั๋วชี้แจง ซึ่งสุดท้ายพนักงานยอมรับว่าขายตั๋วในราคาที่เกินจริงและถูกลงโทษตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 159 กรณีเรียกเก็บค่าโดยสารเกินกว่าอัตราที่กำหนด มีโทษปรับถึง 10,000 บาท และสำนักงานขนส่งฯ ได้กำชับบริษัทขายตั๋วรถตู้ให้ประกาศแจ้งอัตราค่าโดยสาร โดยระบุราคา สถานที่จุดเริ่มต้น จุดจอดระหว่างทาง และจุดสิ้นสุดเส้นทางอย่างชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผู้โดยสาร
นอกจากนี้สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนในลักษณะดังกล่าวอีกกรณีคล้ายกับกรณีของผู้บริโภครายนี้ คือการถูกเรียกเก็บค่าโดยสารเกินราคา ซึ่งกรณีนี้มีตั๋วแสดงราคาค่าโดยสารชัดเจน 200 บาท แต่ถูกเรียกเก็บจำนวน 420 บาท โดยพนักงานขายตั๋วอ้างว่าเนื่องจากเป็นชาวต่างชาติจึงเก็บราคาที่แตกต่างกัน แต่กรณีนี้เป็นการจ่ายเงินสด และมีหลักฐานเพียงตั๋วโดยสารเท่านั้น
อย่างไรก็ตามสภาผู้บริโภคได้แจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นไปยังกรมการขนส่งทางบกให้ตรวจสอบและแก้ไข เนื่องจากขนส่งสาธารณะเป็นสิทธิที่ทุกคนเข้าถึงได้และต้องมีราคาที่เป็นธรรมเพื่อให้ทุกคนใช้บริการได้ ทั้งนี้กรมการขนส่งทางบกรับได้เรื่องเพื่อไปดำเนินการตรวจสอบต่อไป
“เราเป็นนายจ้างให้คนงานเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อไปทำบัตรแรงงาน ขากลับคนงานมาขึ้นรถที่ท่ารถตู้ตรงข้ามฟิวเจอร์ พบว่า พนักงานเก็บค่าโดยสารแพงเกินจริง ปกติค่าบัตร 200 บาท แต่ถูกเก็บ 420 บาท พอเราโทรสอบถามไปที่รถตู้ได้รับแจ้งว่า ถ้าไม่ใช่คนไทยต้องจ่ายราคานี้เท่านั้น แต่ถ้าไม่จ่ายก็ไม่ขายบัตรในราคาปกติและไม่ให้ขึ้น จึงต้องยอมจ่ายเพราะคนงานจะไม่มีรถกลับ” ผู้บริโภคที่เป็นนายจ้างกล่าว
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคขอแนะนำว่า หากผู้บริโภคเจอปัญหาดังกล่าว อย่าปล่อยผ่าน และต้องเก็บหลักฐานรายละเอียดการเดินทางที่สำคัญไว้ เช่น หลักฐานการจ่ายเงิน ตั๋วโดยสาร (ถ้ามี) สถานที่ซื้อตั๋ว เลขรถคันที่ใช้บริการ และเข้าร้องเรียนได้ที่กรมการขนส่งทางบก 1584 หรือร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค 1502 ในวันและเวลาทำการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น. หรือร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/