เพราะระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ทั่วถึง ทำให้ผู้บริโภคต่างจังหวัดไร้ทางเลือกในการเดิน สุดท้ายต้องยอมจำนนต่อการถูกละเมิดสิทธิโดยไม่รู้ตัว แม้ว่ารถประจำทางจะไม่พร้อมให้บริการ เรื่องเล่าผู้บริโภคครั้งนี้เป็นเรื่องของผู้บริโภคที่ไม่ยอมให้สิทธิของตนโดนละเมิด แต่กลับกลายเป็นผู้โดดเดี่ยวในการเรียกร้องความยุติธรรมและความปลอดภัยให้ส่วนรวม
หทัยรัตน์ โสดา ผู้ร้องเรียน เล่าว่าเธอซื้อตั๋วเดินทางจากจังหวัดนครสวรรค์ถึงจังหวัดลำปาง จำนวน 1 ที่นั่ง ราคาตั๋ว 594 บาท ราคาดังกล่าวเป็นราคาตั๋วระยะยาวจากจังหวัดนครสวรรค์ถึงจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะที่จังหวัดนครสวรรค์มีไม่มาก ผู้ร้องจึงต้องยอมซื้อตั๋วในราคาเต็มเพื่อเดินทาง ซึ่งทางผู้ร้องก็เข้าใจผู้ประกอบการ เพราะเป็นเส้นทางเดินรถระยะยาว หากผู้ประกอบการขายตั๋วตามระยะทางอาจขาดทุนได้
เมื่อถึงวันเดินทางราคาหน้าตั๋วคือ 404 บาท อีกทั้งยังพบว่าบนรถโดยสารมีเข็มขัดนิรภัยที่ชำรุดไม่พร้อมใช้งานทุกที่นั่ง ผู้ร้องเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งราคาตั๋วที่เกินราคา อุปกรณ์นิรภัยภายในรถที่ไม่สมบูรณ์ ตลอดจนการไม่เข้าจอดในสถานีขนส่งผู้โดยสาร จึงได้เข้าร้องเรียนกับทางหน่วยงานประจำจังหวัดลำปาง สภาผู้บริโภค
“เมื่อเจอราคาหน้าตั๋วกับราคาที่จองไม่ตรงกัน ดิฉันได้ตั้งคำถามกับคนขายตั๋วที่ขึ้นมาจัดการที่นั่งบนรถ ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะดิฉันอยากได้เงินคืน แต่เพื่อต้องการให้รู้ว่าดิฉันรู้เท่าทันการคอร์รัปชันส่วนต่างนี้ และต้องการให้ผู้บริโภคคนอื่นรับรู้แต่ไม่มีใครที่เรียกร้องอะไรทุกคนกลับนิ่งเฉย สุดท้ายมีดิฉันได้เงินค่าส่วนต่างคนเดียว” หทัยรัตน์ กล่าว
หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว หน่วยงานประจำจังหวัดลำปางได้ประสานงานให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานขนส่งจังหวัดลำปางเพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ต่อมารถทัวร์คันดังกล่าวได้เข้ามายังสถานีขนส่งจังหวัดลำปางและเจ้าหน้าที่สำนักงานขนส่งที่ประจำการ ณ สถานีขนส่งจังหวัดลำปางได้ขึ้นตรวจสอบบนรถ ปรากฎว่าเข็มขัดมีความชำรุดบกพร่องจริงและได้มีการตักเตือนและดำเนินการกับบริษัทตามมาตรการของสำนักงานขนส่งว่าด้วย พ.ร.บ.ขนส่งทาบก พ.ศ.2522 ที่ระบุว่า รถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะรถประจำทางปรับอากาศที่เดินทางระหว่างจังหวัดหรือข้ามจังหวัด ควรจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยแก่ผู้โดยสารทุกที่นั่ง และควรให้พนักงานประจำรถแนะนำผู้โดยสารให้ใช้เข็มขัดนิรภัยทุกคน การที่ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยหากรถเกิดอุบัติเหตุขึ้น จะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ และการพบอุปกรณ์ชำรุดมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
ต่อมาผู้บริหารของบริษัทได้โทรศัพท์หาหทัยรัตน์ ผู้ร้องเรียน เพื่อขอโทษที่ปล่อยปละละเลยในการตรวจสอบรถโดยสารและปล่อยให้พนักงานที่มีพฤติกรรมการขายตั๋วแพงเกินจริงดังกล่าว หลังจากนี้จะนำข้อติชมไปปรับปรุงแก้ไขในส่วนของตัวรถให้มีอุปกรณ์ที่พร้อมใช้งานเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตที่อาจจะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ร้องเรียนเห็นว่าประเด็นหลักคือความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคน โดยเฉพาะการที่รถโดยสารไม่มีเข็มขัดนิรภัยที่พร้อมใช้งานทุกที่นั่ง ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตได้ แต่ผู้บริโภคท่านอื่นที่ได้รับความเสียหาย กลับนิ่งเฉยต่อการถูกละเมิดสิทธิ และเธอกลับกลายเป็นผู้โดดเดี่ยวในการเรียกร้องความยุติธรรมและความปลอดภัยให้ส่วนรวม
“ต่างจังหวัดไม่ค่อยมีขนส่งสาธารณะให้ใช้บริการ ผู้บริโภคก็ต้องยอมใช้บริการตามที่มี แม้จะรู้สึกโดนเอาเปรียบแต่ก็ต้องจำยอม เพราะไม่มีทางเลือกอื่น และหากโวยวายก็เสี่ยงโดนไล่ลงกลางทาง หากผู้บริโภคไม่กล้าโวยวายเวลานั้น แนะนำให้เก็บหลักฐานต่าง ๆ แล้วมาร้องเรียนภายหลังได้ เพื่อยกระดับการบริการให้ดีขึ้นในอนาคต อย่าปล่อยให้ตัวเองโดนเอาเปรียบจนเคยชิน” หทัยรัตน์กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคเห็นว่าบริการขนส่งสาธารณะต้องมีทั่วถึงทุกพื้นที่ และควรจัดเส้นทางหรือเที่ยววิ่งรถที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสาร เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการรถสาธารณะอย่างเท่าเทียม ทั้งนี้บริษัทขนส่งควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ และต้องมีอุปกรณ์นิรภัยที่พร้อมใช้งานเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ หากพบปัญหาผู้บริโภค ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้
• ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
• ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
• อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
• โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1
• อีเมล : [email protected]