ผู้บริโภคมักถูกเตือนให้ระวังอาหารที่ปนเปื้อนสารอันตราย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคอาจคาดไม่ถึงคือ การปนเปื้อนด้วยเศษวัสดุอย่างไม้เสียบลูกชิ้นที่ปนมากับชานมปั่น !
เมื่อไม่นานมานี้ที่จังหวัดสมุทรสาคร ผู้บริโภครายหนึ่งได้ร้องเรียนไปที่สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม หนึ่งในหน่วยงานประจำจังหวัด สภาผู้บริโภคว่า จากการสั่งซื้อน้ำผ่านแอปพลิเคชันเป็นเมนูชานมปั่นในราคา 80 บาท ที่มีโปรโมชัน ซื้อ 1 แถม 1 แต่ในน้ำปั่น 1 แก้วที่แถมมาแล้ว ร้านกลับเศษไม้ผสมมาในน้ำปั่นด้วย
“เมื่อได้รับน้ำปั่นมาก็ดื่มปกติ แต่พบว่ามีเศษไม้ที่ดูดจากแก้วติดอยู่ในปาก จึงได้คายออกมาดูพบว่ามีลักษณะเป็นไม้เสียบลูกชิ้นที่ถูกปั่นจนละเอียดเป็นชิ้นเล็ก ๆ เมื่อเปิดดูแก้วชานมปั่นพบว่ามีเศษไม้เสียบลูกชิ้นเป็นจำนวนมากอยู่ในแก้ว” ผู้บริโภค ระบุ
ทั้งนี้หน่วยงานประจำจังหวัดสมุทรสงครามได้แนะนำให้ผู้บริโภครวบรวมหลักฐาน เช่น รูปภาพน้ำปั่นที่มีเศษไม้ ใบเสร็จการสั่งซื้อ หลักฐานการรับสินค้า เพื่อยื่นให้ร้านน้ำปั่นชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
ขณะที่ร้านน้ำปั่นยอมรับในความผิดพลาด และขอชดเชยความเสียหายโดยการคืนเงินค่าน้ำและส่งน้ำให้กับผู้บริโภคใหม่อีกครั้ง ซึ่งผู้บริโภคต้องการขอรับสินค้าใหม่ และร้านยินดีที่จะส่งสินค้าชดเชยให้โดยผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง
“ตอนปั่นได้ยินเครื่องเสียงดังจึงคิดว่าเครื่องน่าจะมีปัญหา หรือมีช้อนตกลงไป แต่ก็ไม่พบจึงไม่ทันได้สังเกตและส่งสินค้าให้กับไรเดอร์ไป” ผู้ขายระบุ
จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ร้านอาจมองว่าเป็นความเสียหายเพียงเล็กน้อย เพราะยังไม่เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค จึงเสนอแนวทางชดเชยเพียงการคืนเงินค่าสินค้าและส่งสินค้าให้ใหม่ ซึ่งความผิดพลาดของร้านอาจก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายและชีวิตของผู้บริโภคได้ เช่น อาจก่อให้เกิดการอุดตัน หรือบาดเจ็บต่ออวัยวะภายใน แต่กรณีข้างต้นผู้บริโภคสังเกตเห็นและไม่ได้บริโภคเข้าไป จึงทำให้ไม่ได้รับอันตราย
อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคเห็นว่านอกจากการชดเชยค่าสินค้าแล้ว ร้านควรชดเชยเยียวยาด้านจิตใจแก่ผู้บริโภคด้วย ตามสิทธิผู้บริโภคที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ว่าด้วยสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยมีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำ หรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้วทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารทุกร้านควรมีความระมัดระวัง มีความรอบคอบ ตรวจสอบกระบวนการผลิตอาหารทุกครั้งเพื่ออาหารที่สะอาดและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
หากผู้บริโภคพบเจอเหตุการณ์เช่นนี้ สามารถร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค เพื่อปกป้องรักษาสิทธิของตัวเองที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย นอกจากการรักษาสิทธิแล้วยังเป็นการช่วยสร้างความตระหนักให้ผู้ผลิตด้านอาหาร ใส่ใจให้อาหารที่ผลิตให้มีความปลอดภัยมากขึ้น
o ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/
o ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
o อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
o อีเมล : [email protected]
o โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1, 081 134 9215 หรือ 081 134 9216