เปลี่ยนเสียงบ่น เป็นเสียงร้องเรียน

“เราก็ได้รับผลกระทบนะ แต่เขาเป็นบริษัทใหญ่น่ะสิ ร้องเรียนไปก็เท่านั้น ไม่มีใครทำอะไรเขาได้”

เหตุผลเหล่านี้คงทำให้หลายคนถอดใจและทนอยู่ในภาวะจำยอมโดนเอาเปรียบเมื่อเห็นว่าคนธรรมดาทั่วไปไม่มีอำนาจต่อรองกับทุนใหญ่ ในทางกลับกันชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในซอยประดิพัทธ์ 23 และได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมกว่า 8 ชั้น เขามองว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธิและกำลังโดนเอาเปรียบอยู่ เขาจึงลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตัวเองในฐานะผู้บริโภคด้วยการร้องเรียน รวมถึงเดินหน้าฟ้องร้องเป็นคดีความเพื่อให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น 

หากย้อนไปเมื่อช่วงกลางปี 2566 การก่อสร้างอาคารที่พักขนาดใหญ่รุกล้ำพื้นที่ชุมชนกลายเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างต่อเนื่องถึงการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจในการเซ็นอนุมัติให้เกิดการก่อสร้างขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกันสภาผู้บริโภค ผู้แทนผู้บริโภคที่ได้ติดตามประเด็นนี้ประกอบเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่เข้ามา ทำให้สภาผู้บริโภคร่วมกับเจ้าหน้าที่เขต สำนักควบคุมอาคารและสื่อมวลชน ลงพื้นที่สำรวจชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีการก่อสร้างโครงการอาคารขนาดใหญ่ที่เข้าข่ายก่อสร้างผิดกฎหมาย เนื่องจากความกว้างถนนสาธารณะไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แม้จะมีข้อเท็จปรากฏให้เห็นว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย สุดท้ายโครงการยังสามารถเดินหน้าสร้างต่อจนเกิดผลกระทบต่อคนในชุมชน

“เมื่อปัญหายังมาไม่ถึงตัว คนส่วนใหญ่มักไม่รู้สึกว่าจะต้องขยับเขยื้อนอะไร แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นกับตัวเอง เสียงบ่นเริ่มเกิดขึ้นมาตาม” ชายคนนี้บอกด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า สำหรับตัวเขานั้นการบ่นเป็นเพียงแค่การผ่อนคลายความตึงเครียดในตัวเท่านั้นเอง สุดท้ายเราจะต้องจมอยู่กับปัญหาหรือโดนเอาเปรียบต่อไป เพราะเมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จแล้วเจ้าของโครงการได้เงินแล้วก็จากไป แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ คือ ปัญหากองโตที่ถูกทิ้งไว้ให้กับคนที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาคารสูงจะทำให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป ที่ไม่เพียงแต่ผลกระทบด้านการเป็นอยู่เดิม แต่บางคนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพรวมถึงสภาพจิตใจ จากปัญหาที่ได้เจอทุกวันจนกลายเป็นความเครียดสะสม หรือทั้งปัญหาการจราจรติดขัด และหากมีภัยพิบัติขึ้นมาจะยากต่อการปฏิบัติงานและการอพยพประชาชนในอาคารสูงและในชุมชน

“ก่อนที่เหตุการณ์ทั้งหมดจะไปสู่การฟ้องร้องคดี ที่ผ่านมาชุมชนได้ท้วงติงมาตลอด ทั้งถนนสาธารณะมีความกว้างไม่พอและอาจส่งผลต่อความปลอดภัยกรณีเกิดเหตุอัคคีภัยและความแออัดของชุมชน รวมทั้งการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่าอีไอเอ (EIA) ก็ไม่ได้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยการลงไปดูในพื้นที่ สุดท้ายปล่อยให้รายงานอีไอเอผ่าน เมื่อมีการก่อสร้างเกิดขึ้นคนในชุมชนเริ่มได้รับผลกระทบ ทำให้บ้านที่อยู่ใกล้กับการก่อสร้างและถนนฟุตปาธเริ่มเกิดรอยร้าวจากแรงสั่นสะเทือนในการตอกเสาเข็มของอาคาร และสำคัญที่สุด คือ สุขภาพคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง”

“เราจะยอมอยู่กับปัญหาแล้วบ่นต่อไปแบบนี้ และอยู่ในเมืองที่เราไม่มีสิทธิมีเสียงอย่างนี้ต่อไปจริงหรือครับ”

เขาย้ำและแสดงความคิดเห็นถึงต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นว่า หากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานภาครัฐไม่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ลงสำรวจพื้นที่และเมื่อพบว่าพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยให้ก่อสร้างได้ กระทบกับชุมชนอย่างแน่นอน รวมถึงการให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้มีข้อมูลสำหรับป้องกันตัวเองจากถูกละเมิดสิทธิความเป็นอยู่ที่ดี ปัญหาเหล่านี้คงเกิดขึ้นน้อยลง แต่เมื่อหน่วยงานรัฐเพิกเฉย โครงการยังก่อสร้างได้ต่อไป เขาจึงเดินหน้าฟ้องร้องเป็นคดีความต่อศาลปกครองกลาง โดยฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และยื่นคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราว หลังจากการยื่นฟ้อง ศาลได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมบริเวณโครงการฯ ว่ามีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในการป้องกันเหตุที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งความดังของเสียงรบกวน แรงสั่นสะเทือน และฝุ่นละอองให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ก่อสร้าง หรือไม่ และปัจจุบันหลังลงพื้นที่ตรวจสอบ ศาลอยู่ระหว่างรอสำนักงานเขตตรวจสอบว่าเป็นไปตามมาตรการอีไอเอหรือไม่

เขาทิ้งท้ายว่า การฟ้องร้องที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะชุมชนที่เขาอาศัยอยู่มาตั้งแต่เกิดถูกรุกล้ำและทำให้เขาได้รับผลกระทบ ซึ่งปัญหานี้อาจจะเกิดขึ้นกับในหลาย ๆ ชุมชนที่มีโครงการขนาดใหญ่เข้ามาตั้งอยู่ภายในชุมชน ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้น สิ่งที่จําเป็นมากที่สุดก็คือคนในชุมชนต้องรวมตัวกันแล้วออกมาร้องเรียน อย่าปล่อยให้ปัญหากลายเป็นเพียงเสียงบ่นของเรา

ขณะนี้ปัญหาตึกสูงในซอยแคบกระจายตัวอยู่ทั่วทุกพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงในเมืองใหญ่ ๆ ที่ส่งผลกระทบกับคนจำนวนมาก สภาผู้บริโภคจึงขอเชิญชวนทุกคนกลับไปสำรวจว่าอาคารใกล้บ้านเราหรือชุมชน หรือเราอาศัยอยู่ในอาคารสูงที่ก่อสร้างผิดกฎหมายหรือไม่ หากพบสามารถใช้สิทธิผู้บริโภคร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสมาได้ที่สภาผู้บริโภค เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมักจะกระทบต่อผู้บริโภคมากกว่า 1 คน หากปัญหาได้รับการแก้ไขก็จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคในภาพรวมด้วย ทั้งนี้ แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนมาได้ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th หรือโทรศัพท์ : 1502 (วันทำการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น.)