เช็กด่วน ถุงลม (ไม่) นิรภัย ‘ทาคาตะ’ รีบเปลี่ยนก่อนเสี่ยงตาย

ถุงลมนิรภัย อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของยานพาหนะ ทำหน้าที่ป้องกันผู้โดยสารจากการกระแทกกับวัตถุภายใน แต่หากถุงลมนิรภัยที่คุณใช้อยู่ชำรุด นอกจากจะไม่ป้องกันการกระแทกแล้ว ยังส่งผลอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

เรื่องเล่าผู้บริโภคในครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ของผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ซึ่งใช้รถยนต์ยี่ห้อฮอนด้ารุ่นที่ติดตั้งถุงลมอันตรายยี่ห้อ ‘ทาคะตะ’ และรถคันดังกล่าวยังไม่ได้เปลี่ยนถุงลมนิรภัย ผู้บริโภคใช้เดินทางเพื่อจะกลับที่พักในตัวเมืองพะเยาเมื่อปลายเดือนกันยายน 2565 แต่เนื่องจากวันเดินทางมีฝนตกอย่างหนักประกอบกับถนนลื่น ทำให้ประสบอุบัติและได้รับบาดเจ็บสาหัส อาการบาดจากอุบัติเหตุพบว่า เส้นประสาทด้านหลังก้านสมองขาดจากการกระทบกระเทือนกับของแข็ง และมีเศษเหล็กเข้าฝังอยู่ในลำคอ โดยสันนิษฐานว่าเป็นเหล็กจากการระเบิดของถุงลมนิรภัยภายในรถ

“เดิมทีเคยมีกรณีผู้เสียชีวิต จากถุงลมนิรภัยที่ชำรุดยี่ห้อทาคาตะระเบิด เกิดเศษโลหะกระเด็นเข้าใส่ที่ใบหน้าและศรีษะอย่างรุนแรง เนื่องจาก ถุงลมนิรภัยยี่ห้อดังกล่าวพบปัญหาของสารเคมีแอมโมเนียม ไนเตรท ซึ่งใช้เป็นตัวจุดระเบิดถุงลมเพื่อให้ถุงลมพองตัวเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แต่สารเคมีดังกล่าวทำงานบกพร่อง ทำให้เกิดแรงอัดที่มากเกินไป จนกระทั่งถุงลมนิรภัยระเบิดและมีชิ้นส่วนโลหะกระเด็นมาถูกผู้โดยสาร ส่งผลให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตหรือพิการได้” เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ระบุ

แพทย์ผู้รักษาได้ออกใบประจำตัวผู้พิการให้เนื่องจากลงความเห็นแล้วว่าไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติ ปัจจุบัน ผู้บริโภครายนี้ต้องตกเป็นผู้พิการไม่สามารถทำงานใด ๆ ได้ เนื่องจากแขนขวาใช้การไม่ได้ และต้องใส่หลอดเสียงติดที่ลำคอทำให้ไม่สะดวกต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย แม้ว่าค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นสามารถเบิกกับประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. และใช้สิทธิบัตรทองร่วมด้วยบางรายการ แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ประกอบกับยังขาดรายได้เพราะไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม จึงได้เข้ามาปรึกษาที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา หน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา หนึ่งในหน่วยงานประจำจังหวัดของสภาผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องให้บริษัทรถยนต์รับผิดและเยียวยาความเสียหาย

หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน หน่วยงานลงพื้นที่เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้เสียหายและญาติที่ดูแลผู้เสียหายขณะรักษาตัวจากการบาดเจ็บ รวมทั้งประสานโรงพยาบาลและหน่วยกู้ภัยในพื้นที่เพื่อขอรับทะเบียนการรักษาและภาพถ่ายขณะเกิดอุบัติเหตุ และลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยการตรวจวัตถุพยานรถยนต์คันเกิดเหตุ

หน่วยงานได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการจัดทำหลักฐานเป็นหนังสือส่งถึงบริษัท ฮอนด้าประเทศไทย ให้รับทราบข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และร่วมเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยค่าชดเชยเยียวยาจากอุบัติเหตุระหว่างบริษัทและผู้เสียหาย จนสามารถไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ ผู้เสียหายได้รับค่าชดเชยเยียวยาตามความเหมาะสม

“หลังจากช่วยเหลือผู้เสียหายในกรณีนี้สำเร็จ ได้นำเหตการณ์นี้มาเป็นกรณีศึกษาการแก้ไขปัญหา รวมทั้งนำมาขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนนและภาคีเครือข่าย ทำให้เกิดความร่วมมือระดับจังหวัดในการณรงค์ให้ความรู้กับผู้บริโภคได้ตระหนักถึงความปลอดภัยและรับทราบข้อมูล เนื่องจากได้ทราบข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย พบว่ามีรถยนต์อีกมากกว่า 5 แสนคันที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยให้เป็นยี่ห้อที่ปลอดภัย เราจึงต้องเร่งรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้รับทราบปัญหาโดยเร็ว เพื่อความภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค” เจ้าหน้าที่รับเรื่องกล่าวเพิ่มเติม

ท้ายสุด เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนได้ฝากทิ้งท้าย อยากให้ผู้บริโภคตรวจสอบรถยนต์ของท่าน หากเป็นรุ่นที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคะตะ ควรนำรถยนต์เข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย ณ ศูนย์บริการของรถยนต์ตามยี่ห้อที่ใช้อยู่โดยเร็ว ก่อนที่จะเกิดความสูญเสีย และช่วยกันส่งต่อข้อมูลนี้ให้กับผู้บริโภครายอื่นรับทราบ เพื่อป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรุ่นรถยนต์ ที่ต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยได้ที่ www.checkairbag.com หรือติดต่อที่ศูนย์บริการรถยนต์ทุกสาขา หรือสามารถติดต่อสายด่วน 1584 ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อสอบถามข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบว่ารถยนต์เข้าข่ายต้องเปลี่ยน สามารถติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call Center) ของแต่ละบริษัทรถยนต์ เพื่อนำเข้าไปเปลี่ยนถุงลมนิรภัยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สำหรับผู้บริโภคชาวพะเยาหรือจังหวัดใกล้เคียงหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม พบปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย หรือได้รับปัญหาผู้บริโภคอื่น ๆ สามารถร้องเรียนได้ที่หน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา โทรศัพท์ 084 804 6444 หรืออินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ‘ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จังหวัดพะเยา’ หรือร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคได้ที่

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
  • อีเมล : complaint@tcc.or.th  
  • โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1 (หรือโทร 1502)
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) ​: สภาองค์กรของผู้บริโภค