ผู้บริโภคท่านหนึ่งเข้ามาร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ถึงปัญหาจ่ายเงินจองตั๋วเครื่องบิน แต่ไม่ได้ตั๋ว โดยเล่าว่า เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จองตั๋วเครื่องบินผ่านบริษัทจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน กรณีดังกล่าวคือเว็บไซต์แอร์พาส (Airpaz) เพื่อเดินทางไปจังหวัดกระบี่ และโอนเงินผ่านทางเว็บไซต์ จำนวน 30,730 บาท ซึ่งตามระบบต้องได้ตั๋วเครื่องบินภายใน 2 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับจากสายการบิน
จนเช้าวันถัดมา จึงสืบค้นสาเหตุที่รอนานผิดปกติ โดยเข้าไปดูในเฟซบุ๊กแฟนเพจของบริษัทดังกล่าว พบว่า มีลูกค้าท่านอื่นเข้าไปคอมเมนต์เรื่องการจองตั๋วเครื่องบินแต่ไม่ได้ตั๋วเช่นกัน ซึ่งทำให้เขาทั้งเสียเงินและเสียเวลา และผู้ประกอบการควรแจ้งผู้บริโภค เพื่อที่จะใช้บริการอื่นแทน หรือเปลี่ยนเวลาเดินทาง
อย่างไรก็ตาม เขาได้พบคำแนะนำบนโลกออนไลน์จากผู้บริโภคท่านอื่นว่า หากจองตั๋วสายการบินผ่านเว็บไซต์แอร์พาส และโดนยกเลิก ให้ส่งเรื่องไปที่ สอบ. เพื่อร้องเรียนขอความช่วยเหลือ เมื่อร้องเรียนเข้ามา สอบ.ติดตามเรื่องให้ สุดท้ายเขาได้รับเงินคืน
ผู้บริโภครายนี้ระบุว่า ครั้งนี้ถือว่าเป็นบทเรียนในการซื้อสินค้าและบริการ อย่าเห็นแก่ของถูก ควรศึกษาให้ละเอียด อ่านรีวิวก่อนตัดสินใจ และขอบคุณสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ช่วยติดตามจนได้รับการเยียวยาชดใช้ความเสียหาย
ทั้งนี้ สอบ. มีคำแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่จองตั๋วเดินทางภายในประเทศและพบปัญหาไม่ได้รับตั๋ว มีสิทธิยกเลิก และขอเงินคืนจากสายการบินได้ ตามประกาศกระทรวงคมนาคม
1. ผู้บริโภคควรตรวจสอบเว็บไซต์ที่จองตั๋ว และอ่านรีวิวก่อนตัดสินใจจองตั๋วในแต่ละเที่ยวบิน
2. ในกรณีที่จองตั๋วผ่านเว็บไซต์แล้วปรากฏว่าไม่ได้รับตั๋ว ผู้บริโภคต้องเตรียมหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น บันทึกภาพหน้าจอเว็บไซต์ที่จอง สลิปที่ชำระเงินค่าตั๋ว รายละเอียดที่เกี่ยวกับวันเวลาการจอง เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอรับเงินคืน
3. ให้ผู้บริโภคติดต่อกับเว็บไซต์ที่จำหน่ายตั๋วนั้นโดยตรงในการดำเนินการขอยกเลิกตั๋ว และยื่นคำร้องขอรับเงินคืน หรือติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของเว็บไซต์ เพื่อขอช่องทางการรับเงินคืน
4. หากถูกปฏิเสธการคืนเงิน ผู้บริโภคต้องขอหลักฐานการปฏิเสธของเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นหนังสือยืนยันการปฏิเสธ เพื่อใช้เป็นหลักฐานต่อไป
การถูกปฏิเสธการคืนเงินถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนปัญหาต่อ สอบ. เพื่อให้ติดต่อกับบริษัทเหล่านั้นได้