ผนึกกำลังร่วม ETDA คุมเข้มแพลตฟอร์มดิจิทัล ปกป้องสิทธิผู้บริโภค

Getting your Trinity Audio player ready...

สภาผู้บริโภคเสนอข้อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล หวังเพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภคและความรับผิดชอบของแพลตฟอร์มออนไลน์ และร่วมมือ ETDA มุ่งเน้นการคุ้มครองผู้บริโภค ป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภค ผู้บริหารและพนักงาน สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. หรือ ETDA) นำโดย ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่อยู่ในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภคและความรับผิดชอบของแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างสภาผู้บริโภค และ ETDA เพื่อผลักดันให้การประกอบธุรกิจและการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้บริโภคมากขึ้น

สภาผู้บริโภคเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ. … โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค และการสร้างกลไกที่เข้มแข็งเพื่อกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งประเด็นหลักที่สภาผู้บริโภค เน้นย้ำประกอบด้วยข้อกังวลเกี่ยวกับอำนาจการบังคับใช้กฎหมาย แพลตฟอร์มต่างชาติ และตัวแทนที่เข้ามาดูแลภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ว่าจะสามารถถูกบังคับใช้ได้มากเพียงใด

นอกจากนี้สภาผู้บริโภคระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายกับแพลตฟอร์มต่างชาติยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะการจัดตั้งตัวแทนนิติบุคคลในประเทศไทย ซึ่งต้องกำหนดให้ทุกรายมีการจดแจ้งเพื่อให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเสนอให้เพิ่มมาตรการคัดกรองข้อมูลเนื้อหาบนแพลตฟอร์มอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปัญหาการเผยแพร่โฆษณาที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความเสียหายต่อผู้บริโภค โดยเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 29 ควรกำหนดให้มีการตรวจสอบและยืนยันตัวตนของร้านค้าอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการฉ้อโกง โดยเฉพาะจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือหมวด 5 ที่กล่าวถึงบริษัทออนไลน์ยักษ์ใหญ่ (Gatekeeper) หรือ บริษัทที่เป็นผู้คุมประตูระหว่างผู้ใช้กับผู้ให้บริการจํานวนมาก ประเด็นนี้สภาผู้บริโภคเกิดความกังวลว่าหากไม่มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด อาจนำไปสู่การควบรวมอำนาจของแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ และสร้างการผูกขาดทางตลาด ส่งผลให้แพลตฟอร์มรายย่อยไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ยังเสนอให้ทบทวนมาตรา 80 เพื่อให้แน่ใจว่าแพลตฟอร์มขนาดเล็กจะไม่หลุดพ้นจากกระบวนการตรวจสอบ

ในส่วนของการจัดประชุมความร่วมมือกับ ETDA ได้หารือแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้แพลตฟอร์มดิจิทัลดำเนินการตามมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเด็นการโฆษณาหลอกลวง การกำกับดูแลสินค้าอันตราย และการปิดกั้นบัญชีไรเดอร์ (ผู้ขับขี่หรือคนที่ขนส่งสินค้า) อย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงแนวทางการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรฐานแพลตฟอร์มของ ETDA เพื่อให้มั่นใจว่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ยังมีการหารือเรื่องการจัดทำ Super Complaints ที่เป็นกลไกช่วยให้องค์กรที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสามารถร้องเรียนปัญหาให้หน่วยงานที่มีอำนาจดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เป็นการประสานงานระหว่างสภาผู้บริโภคและ ETDA เพื่อจัดลำดับเรื่องร้องเรียนที่สำคัญและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นไปที่การโฆษณาชวนเชื่อและการฉ้อโกงทางออนไลน์ เช่น การโฆษณาหลอกให้ลงทุน เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว อีกทั้งยังจะร่วมจัดทำแผนการประชาสัมพันธ์เพื่อเตือนภัยแก่ผู้บริโภคให้รับรู้ถึงความเสี่ยงในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคจะเดินหน้าผลักดันการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งหวังให้แพลตฟอร์มดิจิทัลมีมาตรฐานการดำเนินงานที่รับผิดชอบมากขึ้น และให้ผู้บริโภคสามารถใช้แพลตฟอร์มได้อย่างมั่นใจภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรมและครอบคลุมทุกมิติ