สภาผู้บริโภคเดินหน้าอุทธรณ์! ศาลไม่รับเป็นคดีกลุ่ม กรณีผู้บริโภคเคลมประกันโควิดไม่ได้

ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่มกรณีผู้บริโภคฟ้อง ‘ทิพยประกันภัย’ เป็นคดีกลุ่มในปี 2566 จากการเคลมประกันโควิดไม่ได้ สภาผู้บริโภค ระบุ พร้อมเดินหน้าต่อเพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม

จากการที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) และตัวแทนผู้บริโภค รวมทั้งหมด 6 ราย ยื่นฟ้องบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และยื่นขออนุญาตให้เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจำนวนมากที่เข้าทำสัญญาประกันโควิด19 กับบริษัทฯ แต่ไม่สามารถเคลมประกันได้ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์นั้น (อ้างอิง : https://www.tcc.or.th/classaction-dhipaya/)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตเป็นคดีแบบกลุ่มโดยให้เหตุผลว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มอาจไม่สามารถอำนวยความสะดวกกับสมาชิกกลุ่มทุกคนได้ทั้งหมด เนื่องจากการพิจารณาการชดเชยอาจไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ ศาลได้อธิบายว่ารายได้รายวันของผู้บริโภคแต่ละรายขึ้นอยู่กับคำสั่งนายทะเบียนตามข้อตกลงความคุ้มครองในกรมธรรม์ และเงื่อนไขการจ่ายเงินตามคำสั่งนายทะเบียนที่ออกมาเพื่อขยายความคุ้มครองของกรมธรรม์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาเป็นรายกรณี หากเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม การชดเชยอาจจะไม่เป็นธรรมและไม่มีประสิทธิภาพ

ตัวแทนผู้บริโภคที่เป็นหนึ่งในผู้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม ระบุว่า แม้จะผิดหวังกับคำสั่งของศาลที่ไม่รับเป็นคดีแบบกลุ่ม แต่พร้อมเดินหน้าสู้ต่อไปเพราะมีความเห็นว่ายังมีโอกาสที่จะได้รับความเป็นธรรม ถึงแม้ว่าโรคระบาดโควิด19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะมีความรุนแรงขนาดใด แต่เมื่อผู้บริโภคซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพและได้ทำสัญญากับบริษัทประกันภัยที่เป็นผู้เสนอ บริษัทประกันภัยเหล่านี้ก็จะต้องรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งในกรมธรรม์ก็ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในประเด็นความเสี่ยงที่บริษัทจะนำมาอ้างได้ว่าจะไม่รับผิดชอบ ดังนั้น บริษัทประกันภัยจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะเป็นการเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

ด้าน นายสมชาย อามีน ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ตั้งแต่สภาผู้บริโภคและตัวแทนผู้บริโภคยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มในกรณีข้างต้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ในระหว่างนั้นศาลได้นัดไต่สวนคำร้องขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่ม และในวันนี้ได้มีคำสั่งไม่รับเป็นคดีแบบกลุ่ม ดังนั้น สภาผู้บริโภคจะหารือและพิจารณายื่นใช้สิทธิอุทธรณ์เพื่อให้ศาลพิจารณาอนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อไป

“อยากฝากให้ผู้บริโภคติดตามคดีการฟ้องร้องที่ขอให้บริษัททิพยประกันภัยชดเชยความเสียหายให้ผู้บริโภคที่เคลมประกันโควิดไม่ได้ต่อไป แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับเป็นคดีแบบกลุ่ม แต่ตามสิทธิยังสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งได้ภายใน 7 วัน ซึ่งสภาผู้บริโภคจะพิจารณาและหารือเพื่ออุทธรณ์ในคดีนี้ต่อไป เพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีเกิดปัญหาจากการซื้อประกันสุขภาพ นอกจากนี้ศาลระบุอีกว่าสภาผู้บริโภคเป็นตัวแทนผู้บริโภคที่สามารถฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ สิ่งนี้จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้มากขึ้นว่าผู้บริโภคสามารถอาศัยสภาผู้บริโภคในการขอความช่วยเหลือด้านคดีได้” ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลจากการหารือเบื้องต้นกับทีมทนายความ สรุปได้ว่าศาลอาจไม่ได้นำประโยชน์ของการดำเนินคดีแบบกลุ่มมาร่วมพิจารณาเป็นหลัก ในความเป็นจริงสมาชิกกลุ่มที่ยื่นคำรองในครั้งนี้สามารถจัดกลุ่มได้หลายประเภทและสามารถกำหนดขอบเขตของสมาชิกและจัดแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ได้ แต่เมื่อศาลได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณาความเสียหายและค่าชดเชยรายได้รายวันเป็นรายคนแทน ซึ่งประเด็นนี้ควรจะเป็นประเด็นที่ต้องนำสืบในชั้นกระบวนการพิจารณามากกว่า ดังนั้น เมื่อนำประเด็นข้างต้นมาพิจารณาเป็นหลัก ศาลจึงมีคำวินิจฉัยมาว่าการฟ้องคดีแบบกลุ่มอาจเกิดความยุ่งยากมากกว่านั่นเอง

นายสมชาย กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า เมื่อผู้บริโภคไปทำนิติกรรมต่าง ๆ อยากฝากให้ผู้บริโภคเก็บพยานหลักฐานต่าง ๆ ไว้ให้ดี เช่น สัญญากรมธรรม์ หลักฐานการโอนเงิน ใบรับรองแพทย์ ภาพถ่าย เป็นต้น หากในอนาคตศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่มและสั่งให้บริษัทต้องจ่ายชดเชยเยียวยาให้โจทก์และสมาชิกกลุ่ม ผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกกลุ่มจะต้องรวบรวมหลักฐานที่มีอยู่และแสดงความเป็นตัวตนสมาชิกกลุ่มเพื่อยื่นคำรองต่อศาลในการขอรับชำระหนี้ของแต่ละคนได้

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค