สภาผู้บริโภคมอบอำนาจหน่วยประจำจังหวัด ฟ้องคดีได้เอง หวังลดปัญหาคอขวด     

ยกระดับให้เข้าถึงความเป็นธรรม สภาผู้บริโภค มอบอำนาจให้หน่วยงานประจำจังหวัด สามารถฟ้องคดีได้ด้วยตนเอง ลดปัญหาคอขวด ระบุ ปัญหาพื้นที่ทุกคดีของผู้ปัญหา ไม่ต้องส่งมาเรื่องมาที่ส่วนกลาง เริ่มแล้ว 6 แห่ง หน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา สุราษฎร์ธานี สตูล และกทม.

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวระหว่างลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี และสงขลา เพื่อเยี่ยมสมาชิกองค์กรของผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัด และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ ว่า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิก 329 องค์กร ใน 48 จังหวัด ยกระดับเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดแล้ว 19 แห่ง 4 หน่วยงานเขตพื้นที่

“พื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดปลายด้ามขวาน ปัตตานีมีองค์กรสมาชิก มีหน่วยงานประจำจังหวัดปัตตานีแล้ว จึงอยากเชิญชวน ยะลา และนราธิวาส รวมตัวจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค เพื่อสร้างความเข้มแข็งและแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคในพื้นที่”

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ยังกล่าวถึงหน่วยงานประจำจังหวัด สภาผู้บริโภค ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้กับคนในพื้นที่ วันนี้สภาผู้บริโภคมีการกระจายอำนาจให้หน่วยงานประจำจังหวัด สามารถ ฟ้องคดีได้ด้วยตนเองเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าถึงความเป็นธรรมมากขึ้น

“นี่คือความก้าวหน้าการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่  โดยสภาผู้บริโภคได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจังหวัด ให้มีอำนาจพิจารณาดำเนินการฟ้องคดีช่วยเหลือผู้บริโภคได้เอง เพื่อลดปัญหาคอขวด ทุกคดีของผู้ปัญหาผู้บริโภคในพื้นที่ ไม่ต้องส่งมาเรื่องมาที่ส่วนกลาง เป็นผู้ฟ้องคดี ” สารี กล่าว และว่า หน่วยงานประจำจังหวัด สภาผู้บริโภค ที่มีอนุฯ คดีสามารถพิจารณาฟ้องคดี ได้แล้ว คือ หน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด หน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  หน่วยงานประจำจังหวัดสงขลา หน่วยงานประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี  หน่วยงานประจำจังหวัดสตูล และกทม.

ปัจจุบัน สภาผู้บริโภคมีทนายความสนับสนุนการฟ้องคดี ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง และคดีผู้บริโภค จำนวน  74 คน มีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการดำเนินคดีที่คอยพิจารณาหลักเกณฑ์การรับช่วยเหลือผู้บริโภคด้านคดีว่า อยู่ในเงื่อนไขการช่วยเหลือด้านคดีของสภาผู้บริโภคหรือไม่ โดยมีรูปแบบการดำเนินคดีอยู่ 3 รูปแบบ 1. ช่วยเหลือดำเนินคดีแทนผู้บริโภค (ฟ้องในนามสภาผู้บริโภค) 2.ช่วยเหลือผู้บริโภคที่ถูกฟ้อง  และ3.สนับสนุนทนายความในคดีที่ผู้บริโภคยื่นฟ้องไว้ต่อศาลด้วยตนเอง ซึ่งผลการดำเนินงาน 2564-ก.ค.2567 มีเรื่องร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล 119 คดี