อนุกรรมการด้านอาหารฯ สภาผู้บริโภค สนับสนุนกิจกรรมประชาสัมพันธ์ “ไข่ไก่ไร้กรง (Cage free Eggs)” เพื่อการบริโภคอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการบริโภคไข่ไก่ที่มาจากการเลี้ยงไก่แบบไร้กรงทดแทนกรงตับ เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ การผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยจากการใช้ยาปฏิชีวนะต่างๆ
ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ครั้งที่ 12/2566 วันพุธที่ 6 ธันวาคม 2566 ซึ่งมี ภก.ภาณุโชติ ทองยัง กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค เป็นประธานที่ประชุม ได้มีพิจารณาแผนกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง หรือไข่ไก่อารมณ์ดี (cage-free egg) ทดแทนไข่ที่เลี้ยงจากกรงตับ (battery cage egg) ที่สำนักงานสภาผู้บริโภคจะดำเนินการร่วมกับบริษัทคะตะลิสต์ จำกัด ซึ่งเป็นองค์กรวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ดำเนินการด้านการส่งเสริม สวัสดิภาพ คุณภาพชีวิตสัตว์ มนุษย์ และสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมนี้มีเป้าหมาย การพัฒนาไข่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง (Cage free egg) 100% ในปี พ.ศ.2577 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและทางเลือกให้กับผู้บริโภคเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการปรับเปลี่ยนการบริโภคไข่ไก่จากกรงตับไปสู่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง รวมทั้งการกระตุ้นธุรกิจอาหาร โรงแรม โรงพยาบาลและค้าปลีก ให้เปลี่ยนมาใช้ไข่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรงผ่านระบบการทำแบบสำรวจและการสื่อสารแก่ผู้บริโภค และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนเกษตรกรให้เปลี่ยนไปเลี้ยงไข่ไก่แบบไม่ขังกรงผ่านการเปลี่ยนแปลงนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยตัวแทนของผู้บริโภค รวมไปถึงการทำงานกับสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงไก่แบบไม่ขังกรงเพิ่มขึ้น
กิจกรรม “ปล่อยไก่” ถือเป็นไฮไลท์ของงานครั้งนี้ โดยจะจัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในช่วงก่อนวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เล็กน้อย จึงมีการกำหนดกิจกรรมปูทาง “Road to valentine” รวม 12 สัปดาห์เพื่อสร้างรู้ความเข้าใจและสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคผ่านช่องทางสื่อสาธารณะออนไลน์ต่างๆ ทุกสัปดาห์ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน 2566 ไปจนถึงสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2567
การส่งเสริมความรู้ให้กับผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญและร่วมเรียกร้องต่อการบริโภคไข่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง หรือไข่ไก่อารมณ์ดี (cage-free egg) ทดแทนไข่ที่เลี้ยงจากกรงตับ (battery cage egg) ถือเป็นพันธกิจสำคัญของสภาผู้บริโภคในการสร้างวัฒนธรรมและมุมมองใหม่ว่าการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้บริโภค ฝ่ายภาคธุรกิจ หรือภาครัฐ และยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกด้วย