สภาผู้บริโภคออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งใช้ศักยภาพจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเทคโนโลยีของรัฐให้เต็มกำลังในการปกป้องข้อมูลประชาชนจากการโดนขโมยข้อมูล ไม่ว่าเป็นการแฮกข้อมูลจากมิจฉาชีพเพื่อการเรียกค่าไถ่ หรือจากบุคคลใด ๆ ที่นำข้อมูลไปใช้เพื่อประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อสาธารณะ พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลตั้งหน่วยงานพิเศษเฉพาะกิจเพื่อปราบปรามมิจฉาชีพที่เรียกค่าไถ่ และสืบค้นบุคลากรของรัฐที่ปล่อยข้อมูลลับรั่วไหลนี้มาลงโทษ รวมทั้งเปิดเผยข้อเท็จจริงของความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยด่วน พร้อมทั้งเสนอแนะให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในยุคดิจิทัลเป็นวาระแห่งชาติ
จากกรณีข่าวการแฮกข้อมูลเรียกค่าไถ่โดยมิจฉาชีพที่อ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนตัวของคนไทยกว่า 55 ล้านรายการที่ได้มาจากหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง รวมทั้งมีการโพสต์ลักษณะข่มขู่หน่วยงานและประชาชนในวงกว้าง ได้สร้างความกังวลต่อประชาชนทั่วไปเป็นวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้บริโภค เนื่องจากข้อมูลส่วนบุคคลสำคัญเหล่านี้อาจถูกแอบอ้างในการนำไปใช้ในการเข้าถึงสินค้าและบริการต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลทางการเงิน หรือการนำข้อมูลไปใช้เพื่อการก่ออาชญากรรมด้านดิจิทัลหรือต่อความปลอดภัยส่วนบุคคล
ในการนี้ สภาผู้บริโภคในฐานะตัวแทนผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ได้เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น ดังนี้
- ขอให้รัฐบาลตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด
มาดำเนินคดีอย่างรวดเร็วจริงจัง และแถลงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ให้กระจ่างแจ้ง ทั้งขอบเขตความเสียหายของข้อมูล แหล่งของข้อมูลที่รั่วไหล รวมถึงมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก เพื่อให้สังคมร่วมรับรู้ข้อเท็จจริง และสร้างความเชื่อมั่น
ต่อการรักษาความมั่นคง เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้เกิดความเสียหายในทุกมิติ - ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่รั่วไหลออกมา ให้แสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบ
ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และเสนอแนวทางในการเยียวยาแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
- ขอให้นำนโยบายในการคุ้มครองข้อมูลพลเมืองในยุคดิจิทัล ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น
- ขอให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับสิทธิผู้บริโภคและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในทุกระดับ
สภาผู้บริโภคได้ขอให้รัฐบาลและบุคคลากรในหน่วยงานรัฐตระหนักถึงความรับผิดชอบสูงสุดต่อข้อมูลประชาชน และให้ยึดมั่นต่อหลักการใน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในเรื่องนี้ไว้ในมาตรา 32 และตามมาตรา 61 ที่กำหนดว่ารัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญา หรือด้านอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
ในประเด็นดังกล่าว สภาผู้บริโภคได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การนำข้อมูลส่วนบุคคลจากหน่วยงานรัฐออกมาใช้อย่างผิดกฎหมายได้เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีตซึ่งยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ แต่หลังจากที่มีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว “ประชาชนต้องการเห็นภาครัฐมีความจริงจังในการทำหน้าที่ของรัฐตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพื่อการคุ้มครองสิทธิของพลเมืองและผู้บริโภคที่กำลังถูกคุกคาม
รวมทั้งขอให้รัฐได้แสดงความรับผิดชอบในการแก้ปัญหานี้ด้วยการเปิดเผยความจริง แสดงความรับผิดชอบ รวมถึงมีมาตรการแก้ปัญหาที่เด็ดขาด มีมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบเสียหายจากเหตุการณ์รั่วไหลของข้อมูลดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อการเลือกตั้งนี้ รัฐบาลที่รักษาการควรแสดงจุดยืนให้ประชาชนเห็นถึงความจริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย และการคุ้มครองสิทธิของพลเมืองให้มากขึ้น” สุดท้ายสภาผู้บริโภคเสนอให้ทุกพรรคการเมืองนำเรื่องการผลักดันการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในยุคดิจิทัลเป็นวาระแห่งชาติ มาเป็นหนึ่งในนโยบายพรรคเพื่อความต่อเนื่องในการคุ้มครองประชาชน