โต้แย้งบทความนักวิชาการหนุนควบรวม

จากการตีพิมพ์ข่าวหัวข้อ : “นักวิชาการ แนะ 4 ข้อ หนุนควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค” ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ขอโต้แย้งข่าวขิ้นนี้ตามหลักวิชาการ ดังต่อไปนี้

ข้อโต้แย้งจากข่าวนี้ นักวิชาการ แนะ 4 ข้อ หนุนควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค (อ้างอิง : thansettakij.com)

ข้อดี 1. ถ้า Dtac ไม่ลงทุนต่อเศรษฐกิจของประเทศจะเกิดการสูญเสีย เพราะ Dtac ไม่กล้าลงทุนเองเพราะต้นทุนสูงและมีความเสี่ยง การควบรวมคือทางออก ถ้า Dtac ควบรวม เท่ากับมีเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศซึ่งส่งผล ต่อ GDP

ข้อโต้แย้งข้อ 1 Dtac ควบรวม ไม่ได้รับประกันว่า Dtac จะมีการลงทุนเพิ่ม อาจเป็นเพียงการโอนทรัพย์สินและหนี้สินไปรวมกับ True เท่านั้นก็ได้


ข้อดี 2. การทำธุรกิจมีได้มีเสียการถูกประวิงเวลาไปจะมีผู้ได้ประโยชน์ เพราะถ้าไม่ควบรวมจะทำให้เบอร์ 1 ได้ประโยชน์มากสุด เพราะเบอร์ 2 กับ เบอร์ 3 สู้ไม่ไหว เบอร์ 4 ลอยตัว (เพราะมีรัฐคอยอุ้ม) แพลตฟอร์มอื่นๆ (OTT) ก็ได้ประโยชน์และกำลังมาแชร์ตลาดทางอ้อม โดยไม่ต้องลงทุนเครือข่าย

ข้อโต้แย้งข้อ 2 AIS ได้ประโยชน์จากการเติบโตและการลงทุนของบริษัทเอง การวางแผนการประมูลคลื่นความถี่ และการลงทุนสร้างโครงข่ายเพื่อให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. เช่นเดียวกับผู้ขอรวมธุรกิจ โดย กสทช. จะกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน และกรณีที่ OTT เติบโต Operator ก็ได้ประโยชน์จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น


ข้อดี 3. กสทช. รอบคอบและเป็นธรรมได้ทั้งแก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการมือถือ กสทช. ดำเนินการอย่างรอบคอบในการจ้างจุฬาฯและส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ แต่ต้องดูแลให้เป็นธรรมกับทั้งฝั่งผู้บริโภคและ Operator เพราะ Operator ก็มีต้นทุนที่สูงจากการประมูลคลื่นความถี่ ต้องให้เขาอยู่ได้ด้วย

ข้อโต้แย้งข้อ 3 แม้ Operator จะมีต้นทุนสูงจากการประมูล แต่ก่อนที่จะเข้าร่วมประมูล หรือเคาะราคาประมูล operator ต้องประมาณการมาแล้วว่า การจ่ายค่าประมูลในราคานั้น จะคุ้มค่าในการประกอบกิจการ ดังนั้น กสทช. ไม่จำเป็นต้องอุ้มผู้ประกอบการเหล่านั้นเพราะเกรงว่าจะอยู่ไม่รอด


ข้อดี 4. การควบรวมไม่ใช่การผูกขาด เพราะปชช. มีทางเลือกบริการหลายทาง โดยการควบรวมไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องกำกับเรื่องราคาที่เป็นธรรม เพราะ กสทช. มีกฎหมายคุมราคาอยู่แล้ว โดยผู้บริโภคไม่ได้มีแค่การใช้บริการจากค่ายมือถือ แต่มีแพลตฟอร์มทางเลือกอื่น ๆ ด้วย Operator ควรพัฒนาตัวเองเป็น Tech Company เพื่อดึงส่วนแบ่งตลาดและลูกค้ากลับมา นอกจากนี้ควบรวมแล้วจาก 4 เหลือ 3 ราย ที่มีขนาดไม่ได้ด้อยหรือน้อยไปกว่ากัน ทั้งทรัพยากรและคลื่นความถี่ที่ครอบครอง

ข้อโต้แย้งข้อ 4

  • การกำกับดูแลอัตราค่าบริการขั้นสูงของ กสทช. ไม่ได้ช่วยผู้บริโภค เพราะปัญหาการคิดค่าบริการเฉลี่ยที่ไม่สะท้อนอัตราค่าบริการที่แท้จริง เพราะใช้วิธีเฉลี่ยแพคเกจที่เสนอขายของทุกค่ายมือถือ โดยไม่ได้ถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการจริง ซึ่งจะมีแพคเกจทั้งที่ขายในตลาดปัจจุบัน ขายในอดีตแต่ยังมีผู้ใช้อยู่ หรือโปรลับที่มีเพียงลูกค้าบางรายที่เข้าถึงเท่านั้น
  • การควบรวมระหว่างทรู-ดีแทค จะลดผู้ให้บริการมือถือจาก 3 เหลือ 2 เท่านั้น เพราะหลังควบรวม ตลาดโทรคมนาคมจะเหลือ ‘ผู้ให้บริการหลัก’ ที่มีนัยสำคัญต่อการแข่งขันจริงเพียง 2 ราย คือ 1. ทรู-ดีแทค และ 2. เอไอเอส แบ่งกันครองตลาดประมาณคนละครึ่ง ส่วน NT เป็นแค่ผู้ประกอบการรายย่อย ตามนิยามของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 นอกจากนี้ ตามข้อมูลการโอนย้ายเลขหมาย ผู้ให้บริการปลายทางที่ผู้บริโภคเลือกย้ายเข้า เรียงลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ AWN 55% TMH 31% DTN 13% NT 0.79% ดังนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ผู้บริโภคไม่ถึง 1% ที่จะเลือกใช้บริการ NT ในแง่การเป็นทางเลือกในการให้บริการ

ข้อโต้แย้งจากข่าวนี้ แนะ ‘กสทช.’ หลังควบรวมทรู-ดีแทค ต้องสร้าง MVNO ช่วยคนไทยเข้าถึงเครือข่าย (อ้างอิง : thansettakij.com)

  • MVNO ไม่ใช่ตัวเลือกของผู้ใช้บริการ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาลูกค้าที่ใช้บริการ MVNO ก็ลดลงเรื่อยๆ โดยปัจจุบัน MVNO ทุกรายมีลูกค้ารวมกันประมาณสามหมื่นกว่าราย จากผู้ใช้บริการมือถือทั้งหมด 118 ล้านราย
  • รศ.ดร.สุชาติ กล่าวว่า “หากรวมกิจการแล้ว ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการรวมคลื่นทำให้เข้าถึงสัญญาณทุกที่ทั่วไทย” ยังไม่แน่ชัดว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จริงหรือไม่ เพราะการรวมคลื่นจะต้องได้รับการอนุญาตจาก กสทช ก่อน

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค