ขอนายกมอบของขวัญปีใหม่ ด้วยมาตรการ 4 ข้อ ฟันมิจฉาชีพ

สภาผู้บริโภคและองค์กรสมาชิก 340 องค์กร ออกแถลงการณ์เรียกร้อง “นายกรัฐมนตรี – ดีอี – ธปท. – กสทช. – สถาบันการเงิน – ค่ายมือถือ” ออกมาตรการหน่วงเงินก่อนโอน บล็อก SMS หลอกลวง และคืนเงินให้ผู้บริโภคที่ถูกหลอกจากการกดลิงก์ของมิจฉาชีพเป็น “ของขวัญปีใหม่” ที่คืนความมั่นใจให้ผู้บริโภคไทย สร้างความปลอดภัยในโลกดิจิทัล และเคารพสิทธิผู้บริโภคตามกฎหมายที่พึงมี

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรสมาชิกกว่า 340 องค์กรจาก 54 จังหวัดทั่วประเทศ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน เร่งออกมาตรการป้องกันและเยียวยาความเสียหายภายใต้หลักการการร่วมรับผิดชอบในความเสียหายของผู้บริโภคจากภัยมิจฉาชีพออนไลน์ร่วมกันเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย

แถลงการณ์ของสภาผู้บริโภค ระบุว่า ภัยมิจฉาชีพดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางการขยายตัวของบริการดิจิทัลที่เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มที่สร้างความเสียหายกว่า 70,000 ล้านบาทในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา หรือเฉลี่ย 70 – 100 ล้านบาทต่อวัน แต่กลับไร้มาตรการคุ้มครองที่เพียงพอ ขณะเดียวกันระบบชดเชยหรือเยียวยาความเสียหายสำหรับผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อยังไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากหมดหวังในการเรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับ นอกจากนี้ยังทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งหาเงินที่ง่ายดายจากมิจฉาชีพออนไลน์ที่ซ่องสุมอยู่ทั้งในและต่างประเทศ

สภาผู้บริโภคได้เสนอ 4 มาตรการสำคัญต่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมและสถาบันการเงินทุกราย ดังนี้

1. ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินทุกแห่ง ได้ออกมาตรการหน่วงการโอนเงินจำนวน 10,000 บาทขึ้นไปเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้บริโภคได้มีเวลาตรวจสอบว่าเป็นธุรกรรมทางการเงินที่สุจริต ปลอดภัยจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือไม่ และต้องแจ้งเตือนโดยทันทีที่มีการโอนเงินเกิน 10,000 บาทไปยังผู้บริโภคเมื่อเกิดธุรกรรมทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงและอาจเกิดความเสียหายกับผู้บริโภคได้

2. ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาตรการการรับผิดชอบร่วม โดยกำหนดให้ธนาคารที่เป็นหน่วยดูแลคุ้มครองเงินฝากคืนเงินให้ผู้บริโภคที่ถูกหลอกกดลิงก์ที่ไม่ปลอดภัยและถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคารเต็มจำนวนที่เสียหาย

3. ขอให้สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาอย่างเคร่งครัด ที่กำหนดไว้ว่าผู้ประกอบการต้องไม่เรียกเก็บเงินกับผู้บริโภคเมื่อเป็นรายการการใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ซึ่งรวมถึงรายการที่เกิดจากมิจฉาชีพออนไลน์

4. ขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ออกมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงของ SMS หลอกลวงผู้บริโภค โดยให้มีตัวกรอง และบล็อก SMS ของมิจฉาชีพออนไลน์ที่ปรากฏชัดว่าเป็นหมายเลขมิจฉาชีพ หาก กสทช. ไม่สามารถกำกับดูแลผู้ให้บริการโทรคมนาคมภายใต้ กสทช. คณะกรรมการ กสทช. ต้องกำหนดให้มีการชดใช้ความเสียหายให้ผู้บริโภคที่ถูกหลอกลวงเต็มจำนวน          

ทั้งนี้ มาตรการทั้งหมดนี้มุ่งหวังให้เป็น “ของขวัญปีใหม่” ที่คืนความมั่นใจให้ผู้บริโภค สร้างความปลอดภัยในโลกดิจิทัล และเคารพสิทธิผู้บริโภคตามกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522