สภาผู้บริโภค ร่วมมือหน่วยงานและนักวิชาการจัดการปัญหาภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์ร่วมกัน พร้อมหารือแนวทางยกระดับแพลตฟอร์มออนไลน์ให้มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค
สืบเนื่องจากการที่สภาผู้บริโภคและสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้สร้างความร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภคในการจัดการกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime) ที่มิจฉาชีพได้ใช้ช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ หลอกลวงผู้บริโภคจนทำให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภคจำนวนมาก รวมถึงการหารือแนวทางการดำเนินการทางกฎหมายกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคก่อนหน้านั้น
เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการจัดการปัญหาภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์ต่อเนื่องและเกิดการบูรณาการความร่วมมือในหลากหลายหน่วยงาน วันนี้ (24 มิถุนายน 2567) สภาผู้บริโภคจึงได้จัดประชุมหารือแนวทางการดำเนินคดีเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่กระทบสิทธิผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ สมาคมผู้ตรวจสอบและให้คำปรึกษาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยรังสิตและมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
จากการนำเสนอข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในเบื้องต้นสภาผู้บริโภคได้นำเสนอถึงปัญหาจากเรื่องร้องเรียนที่ผู้บริโภคถูกหลอกหรือถูกโกงจากการใช้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์แต่ไม่ได้รับสินค้าหรือได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง ชักชวนลงทุน เล่นการพนัน หรือการแอบอ้างเป็นหน่วยงานภาครัฐให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ โดยสภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ช่วยเหลือ รวมถึงการเฝ้าระวังปัญหาและนำมาเตือนภัยผู้บริโภค รวมถึงการแจ้งไปถึงแพลตฟอร์มเพื่อขอให้ระงับหรือปิดกั้น
แต่ที่ผ่านมายังพบว่ายังมีข้อจำกัดอยู่หลายข้อในการปิดกั้นบัญชีที่หลอกลวงผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านหลักเกณฑ์และระยะเวลาในการปิดเพจหลอกลวงที่ใช้ระยะเวลานานจนทำให้มีผู้บริโภคถูกหลอกลวงเพิ่ม หรือการที่มิจฉาชีพยังคงสามารถโฆษณาเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคโดยที่แพลตฟอร์มยังอนุญาตหรือปล่อยให้มิจฉาชีพสามารถซื้อโฆษณาได้โดยอิสระ
ทั้งนี้ โดยสรุปจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมข้างต้น หน่วยงานที่ได้เข้าร่วมหารือจะมีการดำเนินการต่อตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน และจะมีรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการร่วมกัน รวมทั้งการจัดประชุมระหว่างหน่วยงานและทุกแพลตฟอร์มเพื่อร่วมกำหนดหลักเกณฑ์หรือมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมีความรับผิดชอบ มีมาตรฐาน อีกทั้งการสร้างความตระหนักให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยการผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่กระจายสู่ทุกช่องทางเพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเพียงพอในการป้องกันตัวเองจากภัยไซเบอร์