ดอกเบี้ยบัตรเครดิต 16% เป็นธรรมหรือไม่? มาดูงานวิจัยกัน

ผู้บริโภคผู้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิตได้รับข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยว่ามีการกำหนดดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงสุดไม่เกิน 16% ต่อปี โดยกล่าวอ้างว่าเป็นธรรมกับผู้บริโภคและสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง และต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ แต่ตัวเลขนี้เป็นธรรมจริงหรือไม่? เพียงใด? เมื่อข้อมูลต้นทุนจากผู้ให้บริการยังคลุมเครือ และยังไม่ได้เอาปัจจัยอื่น ๆ ในประเทศมาเปรียบเทียบ

เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตไทยที่ 16% เป็นธรรมจริงหรือไม่ สภาผู้บริโภคร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาวิจัย “การเปรียบเทียบดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตระหว่างไทยและต่างประเทศ” เพื่อหาแนวทางคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย

ผลวิจัยเบื้องต้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2567 พบว่า แม้อัตราดอกเบี้ยในไทยต่ำกว่าทั้ง 5 ประเทศที่ศึกษา แต่รายได้เฉลี่ยของคนไทยที่น้อยกว่ากลับทำให้การกำหนดดอกเบี้ยเต็มเพดาน ที่ 16% ส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสังคมที่มีค่าครองชีพสูง ทั้งยังเผยข้อมูลสำคัญด้านการบริหารและกำกับดูแลในอุตสาหกรรมบัตรเครดิต ซึ่งอาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้สินในอนาคต

ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตไทยและต่างประเทศ

ผศ.ดร.จักรกฤช เจียวิริยบุญญา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหนึ่งในคณะผู้วิจัย เผยว่า งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นเพื่อวิเคราะห์โครงสร้างธุรกิจบัตรเครดิตของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา โดยรวบรวมข้อมูลธุรกิจบัตรเครดิตช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2565 ที่ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจธนาคาร (Bank) และธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non – bank) โดยไทยมีผู้ให้บริการบัตรเครดิตทั้งหมด 23 ราย แบ่งเป็นธนาคาร 14 ราย และธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร 9 ราย ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย จีน เยอรมนี และสหรัฐฯ ผู้ให้บริการส่วนใหญ่เป็นธนาคาร ต่างจากเกาหลีใต้ที่เน้นธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารเป็นหลัก

ในแง่การใช้งานบัตรเครดิตในไทยมีจำนวนบัญชีทั้งหมด 25 ล้านบัญชี โดยมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 88,000 บาท ขณะที่จีนมีจำนวนบัญชีสูงถึง 800 ล้านบัญชี ส่วนเกาหลีใต้มีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อบัญชีสูงสุดถึง 1.54 ล้านบาท ซึ่งยอดคงค้างหนี้บัตรเครดิตต่อบัญชีก็สอดคล้องกับมูลค่าการใช้จ่าย โดยเกาหลีใต้มีมูลค่ายอดคงค้างหนี้ต่อบัญชีสูงถึง 135,724 บาท ซึ่งเป็นอันดับสองรองจากมาเลเซียที่มียอดคงค้างสูงสุดที่ 141,023 บาทต่อบัญชี ในทางกลับกัน ไทยมียอดคงค้างหนี้ต่ำที่สุดในกลุ่มตัวอย่าง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 18,768 บาทต่อบัญชี

โครงสร้างการกำหนดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม

ไทยกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตไว้ที่ 16% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ (20%) เยอรมนี (16 – 20%) และสหรัฐฯ (21.16 – 30.74 %) แต่งานวิจัยพบว่า เพดานดอกเบี้ยนี้ไม่ได้สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของผู้บริโภค เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงสุด ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกมากนัก ขณะที่รายได้เฉลี่ยของผู้ใช้บริการบัตรเครดิตในไทยที่ไม่สูงนัก ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการชำระหนี้

ทั้งนี้ การเปรียบเทียบระบบดอกเบี้ยระหว่างไทยและต่างประเทศข้างต้นแสดงให้เห็นข้อจำกัดสำคัญ 4 ประการที่ทำให้การกำหนดดอกเบี้ยในแต่ละประเทศแตกต่างกัน ได้แก่ 1) ความแตกต่างด้านขนาดเศรษฐกิจ (GDP) 2) วิธีการกำหนดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เช่น การกำหนดเพดานและการลอยตัวดอกเบี้ย 3) อำนาจซื้อของผู้บริโภค ซึ่งวัดจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงและรายได้ต่อหัว และ 4) โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้วิจัยย้ำว่าการศึกษาในประเด็นดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลเบื้องลึกของธุรกิจบัตรเครดิตเกี่ยวกับส่วนต่างระหว่างรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้ดอกเบี้ยร่วมด้วย

อย่างไรก็ตามงานวิจัยชี้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาหนี้สินที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

สอดคล้องกับ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า การกำหนดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตไว้ที่ 16% ในอัตราเดียวกันทุกธนาคารสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมและการขาดการแข่งขัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคเสียเปรียบจากการแข่งขันที่จำกัดของการใช้บริการบัตรเครดิต ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงมีความพยายามจัดทำวิจัยเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

การทำกำไรของธุรกิจบัตรเครดิต

แม้เพดานดอกเบี้ยในไทยถูกกำหนดไว้ต่ำเพียง 16% ต่อปี แต่ธุรกิจบัตรเครดิต โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคาร กลับสามารถทำกำไรได้สูงที่สุดเมื่อเทียบกับ 5 ประเทศ โดยอัตรากำไรเฉลี่ย (Profit Margin) ในไทยอยู่ที่ 6.57% สูงกว่าเกาหลีใต้ (4.34%) และสหรัฐฯ (2.45%) ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจบัตรเครดิตในไทยทำกำไรได้สูงคือ ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำและการบริหารความเสี่ยง

แม้ดูเหมือนว่าความสามารถในการทำกำไรที่ต่อเนื่องสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการรายได้และต้นทุนอย่างดีอย่างไรก็ตาม และเพดานดอกเบี้ยในไทยจะต่ำกว่าหลายประเทศ แต่การที่ผู้ประกอบการสามารถตั้งอัตราดอกเบี้ยสูงเต็มเพดานนี้ กลับกลายเป็นภาระหนักสำหรับผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยและชำระหนี้ได้ยากขึ้น

นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์ในตลาด โดยคณะผู้วิจัยได้อ้างอิงถึงบทเรียนจากงานวิจัยก่อนหน้าของอาจารย์เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ที่ระบุว่า กฎเกณฑ์ที่สามารถกำหนดเพดานราคา (Price Ceiling) อาจนำไปสู่การ “รวมหัว” หรือ Price Collusion ซึ่งผู้ประกอบการสามารถร่วมมือกันตั้งราคาสูงสุดตามเพดานที่กำหนดได้

ทั้งนี้ ผู้วิจัยเสนอให้พิจารณากฎระเบียบที่ช่วยให้การกำหนดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมมีความเหมาะสมมากขึ้น เช่น การใช้ระบบ Credit Scoring เพื่อแยกผู้บริโภคที่มีเครดิตดีและเครดิตด้อย และการคิดดอกเบี้ยตามระดับความเสี่ยง เพื่อสร้างความรับผิดชอบและความเป็นธรรมในตลาดบัตรเครดิต

“แม้งานวิจัยธุรกิจบัตรเครดิตในไทยจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด แต่ยังคงต้องเพิ่มมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดความเป็นธรรมและสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของผู้ประกอบการและภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจยังมีความเปราะบางจากปัจจัยรอบด้าน ทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจ รายได้ และค่าครองชีพ” ผศ.ดร.จักรกฤช ระบุ

การกำกับดูแลอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต

การกำกับดูแลอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตในไทยและต่างประเทศถูกศึกษาอย่างละเอียด โดยคณะผู้วิจัยมีการอ้างอิงข้อมูลจากประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการทำสนทนากลุ่ม (Focus Group) ครอบคลุม 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1) คุณสมบัติของผู้ถือบัตรเครดิต 2) วงเงินบัตรเครดิต 3) การเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ และ 4) การดูแลผู้บริโภค

ผู้ถือบัตรเครดิตในไทยต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน หรือมีเงินฝากในจำนวนที่กำหนด บัตรเครดิตแบ่งเป็นบัตรหลักและบัตรเสริม โดยผู้ถือบัตรหลักเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมายสำหรับบัตรเสริม สำหรับต่างประเทศนั้นมีการพิจารณาคุณสมบัติมีความคล้ายคลึงกับไทย แต่เน้นไปที่คะแนนเครดิตส่วนบุคคล เช่น ในเยอรมนี มีหน่วยงานชื่อ SCHUFA ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลคะแนนเครดิต

ส่วนการกำหนดวงเงินบัตรเครดิตในไทย ธปท. แบ่งตามรายได้ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ไม่เกิน 1.5 เท่า ไม่เกิน 3 เท่า และไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ โดยคำนึงถึงภาระหนี้สินของผู้ขอบัตร สำหรับในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ ใช้ปัจจัย 5 ประการในการพิจารณาวงเงิน ได้แก่ ความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการ ข้อมูลเครดิต สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ หนี้คงค้างต่อวงเงิน และปัจจัยเศรษฐกิจภายนอก

การเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในไทยดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมถูกกำหนดไม่เกิน 16% ต่อปี (ค่ากดเงินสดไม่เกิน 3% ต่อครั้ง) ปัจจุบันการคำนวณดอกเบี้ยคำนึงถึงการชำระขั้นต่ำ 8% ซึ่งจะเพิ่มเป็น 10% ในปี 2568 ขณะที่ต่างประเทศมีรูปแบบการชำระขั้นต่ำที่ต่างออกไป เช่น การกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำแทนอัตราร้อยละ และในบางประเทศ เช่น มาเลเซีย มีการแบ่งชั้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 3 ระดับ คือ 15%, 17% และ 18%

ทั้งนี้ ในไทยยังมีการประเมินความสามารถในการชำระหนี้คำนึงถึงภาระหนี้ทั้งหมดร่วมด้วย เพื่อให้รายได้ที่เหลือของผู้บริโภคเพียงพอต่อการดำรงชีพ และผู้ให้บริการบัตรเครดิตในไทยมักเรียกเก็บหนี้โดยการดำเนินการเอง ยกเว้นบางกรณีที่อาจใช้พันธมิตรธุรกิจ กรณีเป็นหนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ข้อเสนอจากการทำสนทนากลุ่ม ระบุว่า ควรมีการปฏิบัติกับลูกหนี้อย่างเป็นธรรม

ขณะที่การติดตามพฤติกรรมของผู้ถือบัตรในไทยและต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกัน โดยมีการใช้ฐานข้อมูลเครดิตร่วมกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และในปัจจุบันมีการนำ AI เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลบัตรเครดิตมากขึ้น

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจบัตรเครดิตไทยให้ยั่งยืน

เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวและเพิ่มความเป็นธรรมในระบบบัตรเครดิตไทย คณะผู้วิจัยได้เสนอแนวทางสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

1. ปรับระบบการคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของผู้บริโภค (Risk – based Pricing) เสนอให้ ธปท. นำระบบการคิดดอกเบี้ยตามระดับความเสี่ยงมาใช้ โดยใช้ข้อมูลจากคะแนนเครดิตของผู้บริโภค ควบคู่กับการกำกับเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม วิธีนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคที่มีประวัติการเงินดีได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสมและยุติธรรมมากขึ้น

2. เพิ่มความโปร่งใสของต้นทุนผู้ประกอบการ เสนอให้ผู้ประกอบการเปิดเผยข้อมูลต้นทุน เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่ส่งผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม การโปร่งใสนี้จะช่วยให้การตั้งราคามีความชัดเจนและตรวจสอบได้

3. ควบคุมวงเงินรวมของบัตรเครดิตต่อผู้ถือบัตร เสนอให้ควบคุมการถือบัตรเครดิตหลายใบของผู้บริโภค เนื่องจากการมีวงเงินรวมที่เกินรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สินเกินตัว

4. ปรับเปลี่ยนรูปแบบหนี้จากหมุนเวียนเป็นผ่อนชำระ เสนอให้ ธปท. ผลักดันการเปลี่ยนแปลงหนี้บัตรเครดิตแบบหมุนเวียน (Revolving Loan) เป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลาผ่อนชำระชัดเจน (Term Loan) สำหรับผู้ที่มีภาระดอกเบี้ยสูง แต่ยังไม่สามารถลดเงินต้นได้

ผศ.ดร.จักรกฤช กล่าวว่า ปัจจุบัน ธปท. กำลังพิจารณาการใช้อัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงในสินเชื่อรายย่อย รวมถึงบัตรเครดิต ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ เช่น การเปิดเผยข้อมูลค่าใช้จ่าย การติดตามการชำระหนี้ และการโอนหนี้ไปยังสถาบันการเงินอื่น

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคจะนำข้อเสนอจากงานวิจัยข้างต้น จัดทำเป็นข้อเสนอแนะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองมากขึ้น โดยไม่กระทบต่อความเข้มแข็งของธนาคาร การเพิ่มอำนาจต่อรองให้ผู้บริโภคจะส่งผลดีต่อทุนในประเทศ รวมทั้งช่วยให้ธนาคารไทยสามารถแข่งขันในระดับสากลได้ด้วย