วันที่ 10 – 11 กันยายน 2562 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ (Consumers South Network) โดยหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกับ หน่วยงานประจำจังหวัดสงขลา หน่วยงานประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี หน่วยงานประจำจังหวัดสตูล สภาองค์กรของผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดปัตตานี
จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานด้านการสื่อสารรณรงค์สาธารณะภาคใต้ จัดกระบวนการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนการดำเนินงานด้านการสื่อสารสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานเขตพื้นที่ หน่วยประจำจังหวัด และสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค รวมถึงกรณีตัวอย่างพื้นที่ภาคใต้ โดยมีเป้าหมายขยายปฏิสัมพันธ์ในเครือข่ายกลุ่มคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้
เริ่มจาก การเวิร์กช็อปการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ “โพสต์ให้เป็น…แชร์ให้ปัง” เป็นกระบวนการที่จะช่วยดึงเอาเรื่องราวดี ๆ และเป็นประโยชน์ไปให้ประชาชนผู้บริโภคในพื้นที่ได้รับรู้ รวมถึงตัวเองเกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง
ภาพรวมของเวิร์กช็อป คือการถ่ายภาพอย่างไรให้เล่าเรื่องที่ดึงเอาเสน่ห์ของงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่มีความเป็นเรื่องเดียวกับชุมชน เห็นมิติความเป็นมนุษย์ออกมาสื่อสาร เชื่อมโยงกับเนื้อหา (Content) ที่สื่อสารความคิดภายในเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยกระบวนการที่สนุก เรียกว่า สอนวิธีการและเทคนิคห่อของขวัญมอบให้ผู้บริโภคด้วยการเล่าเรื่องผ่านมือถือ ด้วยกระบวนการวางแผน ถ่ายทำ และจัดวางสุดท้ายเป็นการสรุปบทเรียนการเรียนรู้ในกระบวนการสื่อสารและการนำไปใช้ต่อในพื้นที่ของแต่ละคน
ต่อมา คือ การสร้างสื่อ สร้างการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมผู้บริโภค มีคำกล่าวว่า “เราเปลี่ยนสังคมด้วยคนคนเดียวไม่ได้ ดังนั้น ยิ่งเรามีเพื่อนที่สนใจกับเป้าหมายของเรา จะสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้” ซึ่งการเล่าเรื่องข้ามสื่อ (Transmedia) เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เหมาะสมจะเป็นเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนมาร่วมกันขับเคลื่อนสังคมผู้บริโภคได้
“เปลี่ยนความโกรธ เป็นเรื่องสร้างสรรค์” พี่จอย (นางสาวสิรินนา เพชรรัตน์) ผู้ประสานงานโครงการบริโภคสร้างสรรค์ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “การสื่อสาร” ในยุคปัจจุบัน มักมีใจความคลาดเคลื่อนกัน ทำให้เกิดเป็นความไม่เข้าใจกันเสมอ ๆ ดังนั้น สิ่งที่จะทำในขั้นตอนแรกเพื่อให้การสื่อสารเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น คือ เริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิด แค่วิธีคิดเปลี่ยน การกระทำก็เปลี่ยนแปลงไปตามเช่นกัน ตัวอย่างเช่น “หน่วยงานหนึ่งมาบอกให้ชาวบ้านสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) สื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน”
พี่จอยบอกอีกว่า “มีความรู้สึกโกรธ เพราะรู้ว่าชาวบ้านไม่มีความถนัดในการใช้เทคโนโลยี มันจำเป็นไหมที่เราต้องทำตามคำบอกกล่าวของหน่วยงานทุกครั้งไป เพราะเรารู้ว่าชาวบ้านไม่มีความถนัด แล้วมันจะรับรู้ หรือ เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้อย่างไร เธอจึงคิดว่า “เราเปลี่ยนความโกรธ เป็นเรื่องสร้างสรรค์” จะดีกว่า สิ่งที่เราอยากสื่อสารมันก็จะเข้าจะเข้าถึงชาวบ้าน เข้าถึงประชาชนผู้รับสารตามบริบทพื้นที่ได้ดีกว่า” เห็นได้ว่าเพียงเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิด ก็สามารถสร้างสรรค์วิธีการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ไม่ยาก เพราะมนุษย์เรามักเบื่อความจำเจ และความเป็นทางการที่บล๊อกคำสั่งซ่อนไว้ภายใน
“ทุกแผนงานทุกโครงการ คือ โอกาสสร้างงานสื่อสารองค์กร” เป็นคำกล่าวของ อ.ชโลม (ภญ.ชโลม เกตุจินดา) กรรมการและที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ รวมถึงเป็นอนุกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านงานคุ้มครองผู้บริโภค 8 ด้านของสภาองค์กรของผู้บริโภค
อ.ชโลม ได้นำเสนอการทำงานสื่อสารสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานประจำจังหวัดและหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ได้เห็นว่าโลกการสื่อสารวันนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เห็นการวิเคราะห์สื่อ การวางเนื้อหาในสื่อที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ชุมชนในพื้นที่ เชื่อมโยงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมในพื้นที่ เห็นการสื่อสารที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คือ มีการคิดและทำร่วมกันของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้
นอกจากนี้ อ.ชโลม ยังได้นำเสนอการทำงานสื่อในพื้นที่ออกมาจากประสบการณ์ ทำให้เห็นการเรียนรู้ การพัฒนา การลองผิดลองถูกเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารให้ดีขึ้นในทุก ๆ การเปลี่ยนแปลง เห็นตรรกะ (Logic) ที่ดี มีความเชี่ยวชาญในงานสื่อสารสาธารณะ มีสติในการวางแผนการทำงานที่น่านับถือ ที่สำคัญคือมีพลังเรี่ยวแรงดีไม่มีตก ทำให้เราเห็นอีกมุมหนึ่งของการทำ Transmedia นั่นคือ การเปลี่ยนการสื่อสาร คือ การเปลี่ยนวิธีคิด
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สื่อสาร สร้างสรรค์ สร้างการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคได้
สองวันนี้จากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานด้านการสื่อสารรณรงค์สาธารณะภาคใต้ วันเสาร์ที่ 10 ถึง วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน 2565 สะท้อนให้เห็นว่า ในปัจจุบันเราอาจมองรูปแบบการสื่อสารได้หลากหลายรูปแบบ การสื่อสารอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยไม่ได้มีสัญญะบางประการแฝงก็ได้ อาจเป็นการสื่อสารเพื่อให้รับรู้ เป็นการแจ้งบางอย่างให้ทราบ ให้เข้าใจ แต่ในอีกมุมมองหนึ่งหากเราสามารถที่จะนำการสื่อสารมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
การสื่อสารนั้น ๆ ก็เปรียบเสมือนเครื่องมือบางอย่างที่เราสามารถเลือกนำมาใช้ประโยชน์ได้ในเวลาที่ต้องการ หรือแม้แต่ใช้แบบฉุกเฉิน ในเวลาที่จำเป็นได้ดี และหลายครั้งการคิดอะไรเหมือนกัน อาจเกิดจากกรอบความคิดเดิม ๆ ซ่อนอยู่ เสมือนสิ่งที่สิงอยู่ในร่างในจิตวิญญาณเรา
แต่ปัจจุบันหลายคนอยู่กึ่งกลางระหว่างความสร้างสรรค์กับความสับสน หากจะทำให้การสื่อสารของเราเข้าถึงผู้คนและมีความเป็นตนเองมากขึ้น ควรสลัดกรอบคิดเดิม ๆ ออกไป และให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ก่อนการแก้ไขปัญหาด้วยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจโดยปราศจากอคติ การตัดสินจากประสบการณ์ความสำเร็จของผู้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงด้านเดียว รูปแบบ กระบวนการ
แต่วิธีการที่มีชีวิต คือ เห็นมิติความเป็นมนุษย์จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง สานสายสัมพันธ์แบบซึมลึกในพื้นที่ได้อย่างมีพลัง เพราะทุกแผนงานทุกโครงการ คือ โอกาสในการสร้างงานสื่อสารองค์กร