ชื่อ “ลูกชิ้นปู” แต่มีปลา ทำลูกค้าแพ้อาหาร ชี้ เจตนาปลอมปนผิด กม.

สั่ง “ลูกชิ้นปู – หมูทรงเครื่อง” แต่มีเนื้อปลาปน แม้ปัญหาการปลอมปนเนื้อสัตว์อื่นๆ ในร้านอาหารอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ของคนทั่วไป แต่เป็นเหตุให้ลูกค้าร้านสุกี้ต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะแพ้เนื้อปลาใน “ลูกชิ้นปู” กับ “หมูทรงเครื่อง” สภาผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้ร้านอาหาร หรืออุตสาหกรรมผลิตอาหาร หยุดการปลอมปนอาหาร และแจ้งส่วนผสมแก่ลูกค้าที่อาจแพ้อาหาร ซึ่งการปลอมปนอาหารเป็นความผิดทางกฎหมาย

ลูกชิ้นปู

จากกรณีที่มีลูกค้าร้านสุกี้ สั่งลูกชิ้นปูและหมูทรงเครื่องให้ลูกชายที่แพ้เนื้อปลารับประทานโดยไม่ทราบว่าอาหารทั้งสองอย่างนั้น แท้ที่จริงผลิตมาจากเนื้อปลา โดยลูกค้าผู้นั้นเล่าเหตุการณ์ที่ตนเองประสบในบัญชีเฟซบุ๊ก ว่าตนเองพร้อมลูกชายเข้าไปรับประทานอาหารที่ร้านเอ็มเค สุกี้ เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และสั่งอาหารรายการเดิมที่เคยสั่งมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นลูกชิ้นปูและหมูทรงเครื่อง ซี่งในรายการอาหารไม่มีรายการใดเลยที่เป็นเนื้อปลา แต่เมื่อรับประทานได้สักพักลูกชายเริ่มมีอาการไอ อาเจียน พูดไม่มีเสียง จึงรีบพาส่งโรงพยาบาล ต่อมาจึงทราบว่าสาเหตุข้างต้นเกิดจากการแพ้อาหารที่มีส่วนผสมของเนื้อปลา

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด มหาชน ได้ชี้แจงความคืบหน้ากรณีลูกค้าแพ้อาหารในร้านอาหารและได้ยอมรับว่าลูกชิ้นปูและหมูทรงเครื่องมีส่วนผสมของเนื้อปลาประกอบอยู่ ทั้งนี้บริษัทเอ็มเคฯ ได้ชดเชยเยียวยาค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายแล้ว

แม้บริษัทเอ็มเคฯ อธิบายเพิ่มว่า หากลูกค้าแพ้อาหารชนิดใดสามารถแจ้งพนักงานเพื่อให้ตรวจสอบส่วนผสมในรายการอาหารที่ต้องการสั่งได้ ซึ่งในกรณีข้างต้นนั้นรายการอาหารระบุชื่อว่า ‘ลูกชิ้นปู’ และ ‘หมูทรงเครื่อง’ โดยหากผู้บริโภคอ่านจากชื่ออาหาร จึงอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ารายการอาหารทั้งสองไม่มีส่วนผสมของเนื้อปลา

เพื่อป้องกันการแพ้อาหาร ผู้ผลิตอาหาร หรือร้านอาหารต้องแจ้งส่วนผสมของอาหารที่ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อสัตว์อื่นๆ ที่นำมาประกอบอาหารชนิดนั้นๆ เพื่อป้องกันการเข้าใจที่ผิด ตามสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานที่ระบุใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อหรือเลือกบริโภค

หากผู้ประกอบการไม่แจ้งข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน จนทำให้ผู้เข้าใจผิดและหลงเชื่อ จะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคที่มีอาการแพ้อาหาร ต้องไม่ลืมสอบถามและต้องเน้นย้ำกับร้านอาหารถึงอาการแพ้ทุกครั้ง เพื่อป้องกันตัวเองในเบื้องต้น เพื่อให้ร้านจัดเตรียมอาหารได้อย่างถูกต้อง

นอกจากเข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้บริโภคแล้วนั้น การที่ร้านขายลูกชิ้นปู กับ เนื้อหมูทรงเครื่อง แต่กลับมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ชนิดอื่น เข้าข่ายการปลอมอาหาร ซึ่งหมายถึงการปลอมแปลงและจงใจเจตนา ทดแทน เจือจางหรือการเติมสิ่งแปลกปลอมลงในสินค้าหรือวัตถุดิบ หรือ การปกปิดให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงของสินค้าหรือวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อหวังผลประโยชน์ทางการค้า และอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคตามมาได้ โดยเฉพาะกับผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง เช่น เกิดการแพ้อาหารส่วนที่เติมเข้ามา ผู้ประกอบการมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (2) และมาตรา 27 ต้องโทษตามมาตรา 59 จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท

รวมถึงใน พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหาย ที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 มาตรา 10 และ มาตรา 12 ยังให้สิทธิ์ผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายได้ ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย โดยผลของสารที่สะสมอยู่ในร่างกายของผู้เสียหายหรือเป็นกรณีที่ต้องใช้เวลาในการแสดงอาการ ผู้เสียหายต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่พบความเสียหาย

หากผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการบริโภคอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสินค้าระบุส่วนผสมไม่ครบถ้วน พบสิ่งแปลกปลอมในอาหาร หรือได้รับความเสียหายจากอาหารที่บริโภคเข้าไป แนะนำให้ผู้บริโภครวบรวมหลักฐาน รูปถ่ายและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน หากมีใบเสร็จจากร้านค้าให้เก็บไว้เป็นหลักฐาน และหากได้รับความเสียหายจากการบริโภคควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นนำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความที่สถานีตำรวจในในพื้นที่ โดยขอลงบันทึกประจำวัน

รวมถึงการโทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ โดยระบุถึงความต้องการที่จะให้ดำเนินการ เช่น ขอให้แก้ไขปัญหา ขอคืนสินค้า ขอเงินคืน หรือขอให้ชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่หากไม่ได้รับการชดเชยเยียวจากผู้ประกอบการ ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เบอร์ 1556 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่เบอร์ 1166 หรือสภาผู้บริโภค โทรศัพท์ 1502 ในวันเวลาทำการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น. ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค