สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ย้ำ กนศ. ต้องหารือกับเครือข่ายผู้บริโภค เพื่อแก้ปัญหาข้อห่วงกังวล CPTPP ตามบัญชานายกฯ ก่อนดันเข้า ครม.
วันนี้ (7 ธันวาคม 2564) ตามที่มีกระแสข่าวว่าในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ที่จะถึงนี้ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะผลักดันวาระพิจารณาให้รัฐบาลเห็นชอบการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) เพื่อนำเข้าไปเสนอเพื่อลงมติในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 14 ธันวาคม 2564 นั้น
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. ยืนยันว่า กนศ. ยังไม่ได้นำเรื่องข้อตกลง CPTPP มาประชุมหารือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ตามที่นายกรัฐมนตรีมีบัญชาไว้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้เข้าวาระประชุม ครม. หาก กนศ. ฝืนดำเนินการก็อาจถือได้ว่าขัดเจตนารมณ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศไว้กับ สอบ. และเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งการพิจารณาเห็นชอบเข้าร่วม CPTPP ที่จะทำให้ประเทศต้องผูกมัดในข้อตกลงหลายประการจะสร้างผลกระทบอย่างมากต่อประชาชนโดยรวม และ สอบ. กับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้แสดงข้อห่วงกังวลในประเด็นนี้มาโดยตลอด
รวมถึงได้ส่งข้อเสนอให้กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมายังมีบัญชาให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนศ. พิจารณาและประสานกับ สอบ. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บัญชาดังกล่าวยังไม่มีหน่วยราชการใดนำไปปฏิบัติ แต่กลับจะมีแผนเดินหน้าเข้าร่วม CPTPP
“สอบ. ยังขอยืนยันให้ กนศ.หารือกับ สอบ. ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี และขอให้รัฐบาลชะลอการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลง CPTPP ออกไปก่อน จนกว่าจะมีการเจรจากับ สอบ. และภาคประชาชนจบสิ้นแล้ว” เลขาธิการ สอบ.กล่าว
สารี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา สอบ. ภาคประชาชน และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย (กกร.) หารือ และสรุปตรงกันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบว่าการเข้าร่วมจะมีผลได้หรือผลเสียมากกว่ากัน ทั้งการค้าและการลงทุนที่เปรียบเทียบกับผลกระทบต่อประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินทางนโยบายที่สำคัญ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรรองานวิจัยนี้ก่อนที่จะเดินหน้าเข้าร่วม
นอกจากนี้ สอบ. จะเสนอให้ กกร.จัดหานักวิชาการไทยที่มีงานตีพิมพ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับ FTA ในวารสารวิชาการระดับโลก ในฐาน SCOPUS หรือ ISI และขอให้นักวิชาการรายดังกล่าวทำวิจัยเพื่อ ให้ได้ผลชัดเจน ทั้งนี้ ขอยืนยันให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอของ สอบ. และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคก่อนที่จะดำเนินการเข้าร่วม CPTPP ตามข้อเสนอ ดังต่อไปนี้
1) ขอให้ ครม.ชะลอการแสดงความจำนงเข้าร่วมความตกลง CPTPP จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบแล้วเสร็จ พร้อมกันนี้ ครม.ควรใช้มาตรการอื่น ๆ ในการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคในประเทศ เช่น ทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน Regulatory Guillotine (RG) เพื่อลด ละ เลิกกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น ล้าสมัย ไม่สะดวก สร้างภาระต่อการปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเฉพาะระเบียบ กฎเกณฑ์ และแนวปฏิบัติภาครัฐส่วนมากมีลักษณะไม่ยืดหยุ่น ก่อให้เกิดภาระต่อภาครัฐในการบังคับใช้และสร้างภาระต่อผู้ประกอบการ และประชาชนในการปฏิบัติตาม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เท่าทันนวัตกรรมใหม่ ๆ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของโลก
2) ขอให้เร่งดำเนินการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP และนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบฯ ต่อสาธารณะทันทีเมื่อแล้วเสร็จ หากข้อมูลพบผลกระทบด้านลบมากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้น ขอให้รัฐบาลมีมติหยุดเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ต่อไป หากมีผลกระทบด้านบวกมากกว่าและสรุปได้ว่าการเข้าร่วมฯ จะก่อให้เกิดผลได้มากกว่าผลเสียอย่างมีนัยสำคัญ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น งบประมาณ อัตรา บุคลากร ศักยภาพของบุคลากร ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ตามที่ระบุในบทสรุปผู้บริหารของรายงานของคณะกรรมาธิการฯ
3) ขอให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยากับยาชื่อสามัญ (Generic Drug) และเร่งปรับปรุงฉลากผลิตภัณฑ์ GMOs ให้มีความชัดเจนและต้องแสดงฉลากในทุกผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีการใช้วัตถุดิบ ที่มาจากการตัดแต่งพันธุกรรมไม่ว่าจะปริมาณเท่าใดก็ตาม รวมทั้งมีสัญลักษณ์ที่ผู้บริโภคสามารถเห็นได้ชัดเจน รวมทั้งมีมาตรการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องสำอางและอาหารจากวัตถุดิบที่มีหรือปนเปื้อน GMOs เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค คู่ขนานกับการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจ
4) ขอให้กระทรวงพาณิชย์ปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ที่สร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร สิทธิของประชาชน และการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ และสนับสนุนการใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (มาตรการบังคับใช้สิทธิ, Compulsory Licensing) ให้มีประสิทธิภาพและสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ความตกลงทริปส์) และปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข ที่ตีความและบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาโดยคำนึงถึงประโยชน์ด้านสุขภาพมากกว่าการค้า รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรให้ผู้ยื่นขอรับการคุ้มครองสิทธิบัตรพันธุ์พืชต้องแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น
5) ขอให้กองทุนอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์พืช ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เร่งดำเนินการให้กองทุนสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงกองทุนนี้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในระดับจังหวัด และให้การสนับสนุนเกษตรกรเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ และพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนสายพันธุ์พืชท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากสายพันธุ์โดยเกษตรกรและชุมชน
และ 6) ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้ครอบคลุมทรัพยากรชีวภาพทุกประเทศ โดยใช้หลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity, CBD) เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของกฎหมายฉบับนี้