แถลงการณ์เรียกร้อง ให้เปิดเผยหลักฐานการมีคุณสมบัติต้องห้าม กสทช.

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และสภาองค์กรของผู้บริโภค แถลงการณ์เรียกร้อง ให้เปิดเผยหลักฐานการมีคุณสมบัติต้องห้าม กสทช. เพื่อยุติหน้าที่ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ จากการเป็นกรรมการและประธาน กสทช.

วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ขอเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการเรียกหลักฐานจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่แสดงถึงสถานะการเป็น “ลูกจ้างรายชั่วโมง” ที่ได้รับผลตอบแทนของ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ก่อนและหลังการได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 8 (2) ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อยุติหน้าที่ของนพ.สรณ หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการและประธานกรรมการ กสทช. โดยทันที 

ทั้งนี้ มาตรา 8 (2) ของ พ.ร.บ. กสทช. มีข้อบัญญัติกำหนดไว้ว่า กรรมการต้อง “ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ …” ซึ่งการลาออกจากตำแหน่งหน้าที่หรืออาชีพนั้น ควรกระทำก่อนการลงชื่อเป็นผู้สมัครในการสรรหา และแสดงหลักฐานต่อประธานวุฒิสภาตามวันที่ประธานวุฒิสภาประกาศ คือ ภายในวันที่ 10 มกราคม 2565

แม้ นพ.สรณได้ประกาศลาออกจากหน้าที่รองอธิการบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 7 มกราคม 2565 แต่ในเอกสารของมหาวิทยาลัยมหิดลเลขที่ อว. 78/ล ที่ส่งไปยังคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ตามคำขอจากกรรมาธิการ ปรากฏในสื่อสาธารณะเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ชี้ชัดว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2564 จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2565 นพ.สรณ ยังมีสถานะเป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” ทำหน้าที่ตรวจและรักษาคนไข้ ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และนอกจากนั้น นพ.สรณก็มีสถานะเป็น “แพทย์ค่าตอบแทนรายชั่วโมง” ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2565 และแม้ นพ.สรณ ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรองอธิการบดี แล้วก็ตาม แต่ นพ.สรณ ยังคงปฏิบัติงานในฐานะ “ลูกจ้างรายชั่วโมง” ที่ได้รับรายได้จากมหาวิทยาลัยมหิดล (อ้างอิง ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดลว่าด้วยการบริหารบุคคลลูกจ้างเงินรายได้ พ.ศ. 2561)

ดังนั้น นพ.สรณ จึงมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 (2) ซึ่งหากพบหลักฐานแล้ว สามารถดำเนินการตามมาตรา 18 ที่กำหนดว่า “ผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการซึ่งยังมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 (1) (2) หรือ (3) อยู่ ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกหรือเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพดังกล่าวแล้วนั้นต่อประธานวุฒิสภาภายในเวลาที่ประธานวุฒิสภากำหนด ซึ่งต้องเป็นเวลาก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ในกรณีที่ไม่ได้แสดงหลักฐานภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิและให้ดำเนินการสรรหาใหม่ โดยผู้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่ไม่ได้ และให้นำความในมาตรา 16 วรรคห้าเพื่อเสนอวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ”

ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อยุติหน้าที่จากการมีคุณสมบัติต้องห้ามของกรรมการ กสทช. สามารถกระทำได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านการมีมติของวุฒิสภา ซึ่งสำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการทำงานของคณะกรรมการ กสทช. จึงควรทำหนังสือขอหลักฐานจากมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อดำเนินการอย่างเร่งด่วน หากสำนักงาน กสทช. ดำเนินการอย่างล้าช้าจะมีผลเสียหายต่อสำนักงาน กสทช. คณะกรรมการ กสทช. และกิจการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการชุดนี้

อนึ่ง ครป. และสภาผู้บริโภค ขอเรียกร้องผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยหลักฐานทุกชิ้นในการเป็น “ลูกจ้างรายชั่วโมง” ของ นพ.สรณ ทั้งก่อนและหลังการดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. จนถึงสถานะในปัจจุบันที่เป็นไปตามกฎและระเบียบของมหาวิทยาลัย โดยไม่ปิดบังเพื่อให้สาธารณะชนได้รับทราบอย่างเปิดเผยโปร่งใส ในฐานะสถาบันการศึกษาหลักแห่งชาติที่ได้รับความเชื่อถือระดับภูมิภาคและระดับโลก

ประชาชนชาวไทย ครป. และสภาผู้บริโภคมีความคาดหวังด้านจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ที่ได้มาจากการเลือกตั้ง การสรรหา การแต่งตั้งที่มีคุณค่าทางสังคม มากไปกว่าข้อกำหนดทางกฎหมาย จึงเรียกร้องให้ นพ.สรณ แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการลาออกจากตำแหน่งกรรมการ กสทช. และประธาน กสทช. โดยทันที ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะเป็นความสง่างามของผู้บริหารองค์กรสาธารณะ เป็นการสร้างบรรทัดฐานผู้ดำรงตำแหน่งจากการสรรหาในองค์กรอิสระ และเป็นการกระทำที่ได้รับความยกย่องระดับสากล

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค