สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) หารือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สำนักปลัดสำนักนายกฯ และ สคบ.แลกเปลี่ยนแนวทาง สร้างความร่วมมืองานคุ้มครองผู้บริโภค เห็นพ้อง งานคุ้มครองผู้บริโภคเดินไปพร้อมการประกอบธุรกิจได้ ด้านประธาน สอบ.แนะ เร่งผลักดันเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 บุญยืน ศิริธรรม ประธาน สอบ. สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ.และสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการ สอบ.เข้าพบ อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางและสร้างความร่วมมือในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและสร้างความก้าวหน้าในระดับสากลให้มากยิ่งขึ้น
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ปัจจุบันในไทยมี 2 หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค คือ สคบ. ที่เป็นหน่วยงานรัฐ และ สอบ. ที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีวัตถุประสงค์ในการปกป้อง คุ้มครองผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
ทั้งนี้ ในการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคนั้น หน่วยงานทั้งสองจะต้องวิเคราะห์การคุ้มครองผู้บริโภคตามอำนาจหน้าที่ด้วยความยุติธรรม โดยไม่มีอคติเป็นตัวนำ เนื่องจากการทำหน้าที่ดังกล่าวมี 2 ด้าน กล่าวคือ ด้านหนึ่งมีไว้เพื่อทำหน้าที่หลัก คือ การปกป้อง คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ให้รู้เท่าทันภัยต่าง ๆ และสามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง คือ การส่งเสริมผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจด้วยความสุจริต
ดังนั้น จึงต้องสร้างความเข้าใจและหาแนวทางเพื่อทำให้ทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบการดำรงอยู่ด้วยความเข้าใจบนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ภายใต้นโยบายที่สุจริตและยุติธรรม อีกทั้งเพื่อทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
ด้าน บุญยืน กล่าวว่า ขณะนี้ทุกส่วนต้องร่วมมือทำให้ผู้ประกอบการหันมาคุ้มครองผู้บริโภค และหน่วยงานต้องผลักดันการแก้ไขปัญหาผู้บริโภคเชิงนโยบาย โดยมองลงลึกไปถึงรากของปัญหาว่ามีสาเหตุมาจากอะไร มากกว่าการแก้ไขเป็นรายปัญหา หรือรายบุคคล เนื่องจากการแก้ไขเป็นรายคนอาจไม่สามารถแก้ไขรากของปัญหาได้อย่างแท้จริง
“การคุ้มครองผู้บริโภคไม่ใช่การทำลายธุรกิจ แต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค และการตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือหน่วยงานภาครัฐอย่าง สคบ. จะเข้ามาเพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภคจากผู้ประกอบการที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ถ้าหากการประกอบธุรกิจนั้นไม่ดี เราก็ช่วยปรับแก้ไขให้ดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากทำดีเราก็ชื่นชม” บุญยืน กล่าว
ขณะที่ สารี กล่าวว่า รัฐบาลสามารถหยิบจับประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคมาเพื่อต่อยอดการทำงานได้เป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น หากซื้อบ้านและกู้ไม่ผ่าน ผู้บริโภคต้องได้เงินดาวน์คืน ขณะนี้ บางบริษัทคืนเงินให้ผู้บริโภค แต่บางบริษัทกลับไม่คืนเงินให้ผู้บริโภค ซึ่งมองว่าหากรัฐทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการในประเด็นอสังหาริมทรัพย์ก็จะช่วยคุ้มครองผู้บริโภคได้ และทำให้ผู้บริโภคได้รับเงินคืน เพราะเป็นนโยบายสาธารณะที่มองเห็นเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ จากการที่ สคบ. เตรียมผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. … หรือกฎหมายมะนาว (Lemon Law) ในหลายประเทศใช้กฎหมายนี้มาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งขณะเดียวกันรถยนต์จากไทยที่ส่งออกไปขายในต่างประเทศถูกควบคุมด้วยกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้น จึงมองว่ารัฐควรผลักดันกฎหมายนี้ และทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการรถยนต์โดยเร็ว เช่น หากซื้อรถยนต์จากประเทศไทยและมีปัญหาภายใน 6 เดือน จะต้องสามารถคืนรถได้ หรือหากซ่อมไปแล้ว 2 ครั้ง ผู้ประกอบการจะต้องเปลี่ยนรถคันใหม่ให้ ตามหลักการของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ และจะทำให้ธุรกิจรถยนต์ของไทยแข่งขันในระดับสากล และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ธุรกิจรถยนต์ได้ และที่สำคัญ คือ สามารถยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคได้อีกด้วย
“เราอยากเห็นว่าการคุ้มครองผู้บริโภคควรเป็นวัฒนธรรมใหม่ และไม่อยากให้ภาคธุรกิจมองว่าการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอุปสรรค แต่กลับเป็นเรื่องดีที่หากผู้ประกอบการรายใดทำธุรกิจที่ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ประกอบธุรกิจแบบตรงไปตรงมา ผู้บริโภคก็ควรจะเชียร์ และทั้งสองส่วนสามารถเดินไปด้วยกันได้ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้” เลขาธิการ สอบ. กล่าว
เช่นเดียวกันกับ สุภาพร ที่มองว่าการทำงานในเชิงนโยบายจะช่วยแก้ไขปัญหาผู้บริโภคได้ ทั้ง สอบ. และ สคบ. ต่างมีคณะกรรมการนโยบายของตัวเอง ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยสะท้อนและผลักดันนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคได้ ดังนั้น จึงเห็นว่าหากคณะกรรมการนโยบายของทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมออกแบบและกำหนดทิศทางการทำงาน จะทำให้การทำงานเชิงนโยบายในการคุ้มครองผู้บริโภคเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รองเลขาธิการ สอบ. กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สอบ. สคบ. และภาครัฐ ควรหาแนวทางสร้างความร่วมมือ หรือ การผลักดันนโยบายร่วมกันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไทย เนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย 30 เมษายนที่จะถึงนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในประเทศไทย