สำนักงานสภาผู้บริโภคจัดอบรมพัฒนาศักยภาพคนทำงาน เน้นปลุกพลัง สร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงาน มุ่งเป้าสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 สภาผู้บริโภค จัดอบรมพัฒนาศักยภาพคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานเขตพื้นที่ หน่วยงานประจำจังหวัด องค์กรสมาชิก และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานส่วนกลาง ได้เรียนรู้แนวคิดการคุ้มครองผู้บริโภค การเข้าใจสิทธิผู้บริโภค รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อนำไปปรับใช้กับการทำงาน
เริ่มด้วยการปลุกพลังผู้บริโภค โดย บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค ที่ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจในการทำงานช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน การเรียกร้องสิทธิเพื่อความเป็นธรรม และสิทธิความเท่าเทียมที่ควรได้รับ จนมาพบกับ สารี อ๋องสมหวัง ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคหลากหลายองค์กรที่ได้ร่วมต่อสู้กับความท้าทายและอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งข้อจำกัดของกฎหมาย อำนาจของทุน หรือความเปลี่ยนแปลงของสังคม มาตลอดระยะเวลากว่า 25 ปี ประกอบร่างมาเป็น ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ สภาผู้บริโภค’ ได้สำเร็จ
“การทำงานเพื่อผู้บริโภคเป็นงานที่ช่วยเหลือผู้คนเพื่อให้สังคมดีขึ้น ช่วยยกระดับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเป็นงานที่มีคุณค่ากับตัวเราเองด้วย” ประธานสภาผู้บริโภค ฝากทิ้งท้าย
เสียงจากคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค
ในการอบรมครั้งนี้ มีตัวแทนพี่ ๆ หน่วยงานเขตพื้นที่และหน่วยงานประจำจังหวัดร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานเพื่อผู้บริโภค ความท้าทายที่พบ รวมถึงยังได้ส่งต่อแรงบันดาลใจในการทำงานถึงคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค
ไม่ว่าจะเป็น นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาผู้บริโภค ที่เริ่มต้นจากการทำงานอาสาสมัครรับเรื่องร้องเรียน ขณะนั้นมีผู้เสียหายเป็นหนี้กับธนาคารและได้เข้าช่วยเหลือ แต่พบกับความท้าทายจากหน่วยงานที่ประสานงานในเรื่องของอำนาจ บทบาท และหน้าที่ ดังนั้นจึงมองว่าการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสภาผู้บริโภค เป็นเรื่องที่ดีอย่างมากเพราะทำให้มีกฎหมายคุ้มครองและรองรับการทำงานเพื่อผู้บริโภค ตลอดจนสร้างการยอมรับในการสร้างความร่วมมือกับส่วนงานต่าง ๆ ได้มากขึ้นอีกด้วย
สอดคล้องกับ ธนพร บางบัวงาม หน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สภาผู้บริโภค กล่าวว่าการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในขณะนั้นไม่มีกฎหมายรองรับ และอาจเป็นอุปสรรคหนึ่งในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ครบถ้วน แต่เมื่อมีการรวมตัวของเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคจำนวนมากจนเกิดสภาผู้บริโภค ทำให้การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้น เนื่องจากการประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่ง ธนพร ระบุว่า แรงบันดาลใจในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค คือ การได้รับแรงหนุนเสริมจากเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคที่ทำงานอย่างหนักมาโดยตลอดและมีคติในทำงาน คือ “การให้ความสำคัญภาคประชาชน คือ ความสัมพันธ์กับเครือข่าย และการให้ใจ ไว้ใจกัน คือ ความสำเร็จของงานอย่างแท้จริง”
ขณะที่ ภญ.ชโลม เกตุจินดา หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้ สภาผู้บริโภค เล่าย้อนไปถึงความท้าทายในการต่อสู้คือเพื่อให้เกิด พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค 2562 ที่พบปัญหาการขึ้นทะเบียนองค์กรของผู้บริโภค ทั้งปัญหาด้านเอกสารในการขึ้นทะเบียน ปัญหาการตรวจสอบสถานะความเป็นองค์กร แต่สุดท้ายฝ่าฟันจนได้จดแจ้งองค์กรของผู้บริโภคได้มากกว่า 150 องค์กรและได้ดำเนินการจัดตั้งเป็น ‘สภาผู้บริโภค’ ในที่สุด
ส่วน จินตนา ศรีนุเดช หน่วยงานประจำจังหวัดขอนแก่น สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า แม้จะเจอปัญหาหลากหลาย แต่การได้เข้าไปแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคในพื้นที่เป็นเรื่องที่สนุกมากและได้ช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม ทั้งนี้ การมีเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคจะทำให้การทำงานคลอบคลุมและมีประสิทธิภาพขึ้น
ด้าน ธนชัย ฟูเฟื่อง หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงราย สภาผู้บริโภค เล่าว่า จุดเริ่มต้นในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเกิดจากเหตุการณ์ที่ครอบครัวของตนถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภค เมื่อไปร้องเรียนหน่วยงานภาครัฐต้องไปหลายหน่วยงาน ถูกส่งต่อไปหลายหน่วยงาน เมื่อรู้สึกว่าไม่ได้รับการช่วยเหลือ จึงทำให้ลุกขึ้นมาเพื่อคุ้มครองสิทธิและปกป้องตัวเองจากความไม่เป็นธรรม รวมถึงการช่วยเหลือผู้บริโภครายอื่น ๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ เสียงส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า อยากเห็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในการทำงาน สร้างการมีส่วนร่วม การเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน โดยนำเครื่องมือหรือระบบต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการทำงานต้องมีความยืดหยุ่นแต่อยู่ในพื้นฐานของความถูกต้อง เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการกระชับความสัมพันธ์ของผู้ปฏิบัติงานร่วมกัน
ปรับเพื่อเปลี่ยน ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค
ส่วนในเวทีภาคบ่ายนั้น ได้ สารี เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ที่มาเล่าถึงการทำงานเพื่อผู้บริโภคว่า มีการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากการลงมือปฏิบัติ เมื่อไม่สำเร็จก็มีการปรับแผนและนำกลยุทธ์ที่เหมาะสมมาใช้เพื่อทำให้งานสำเร็จ
“ขอให้เน้นเรื่องการสื่อสารที่ตรงกัน อยากให้ทุกคนเข้าใจกลไกของการบริหารงานเพื่อทำให้ขบวนการคุ้มครองเข้มแข็ง ตอนนี้เราต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลงและจะมีวิธีการใดที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคมากที่สุด” สารี กล่าว
ในช่วงบ่ายมีอบรมให้ความรู้เรื่องผู้บริโภคและการดำเนินงานด้านผู้บริโภค ทั้งเรื่องความสำคัญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผผู้บริโภคและการผลักดันกฎหมาย 3 ฉบับ ของสภาผู้บริโภค อีกทั้งยังมีการให้ความรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภคไทย 5 ประการ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิผู้บริโภคของตัวเอง การดำเนินงานของสภาผู้บริโภค อาทิ การเสนอนโยบายเปิดก่อนจ่ายและการหน่วงเงินก่อนโอน (Delayed Transaction) รวมทั้งการให้ความรู้ด้านการทำงานทั้ง 8 ด้าน การทำงานร่วมกับหน่วยงานในแต่ละพื้นที่เพื่อผลักดันนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค
กิจกรรมการอบรมครั้งนี้มุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้ด้านผู้บริโภค ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ผู้บริโภค 101” นอกจากจะเสริมความรู้ด้านผู้บริโภคแล้ว ยังมุ่งเน้นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ซึ่งผู้บริหารให้ความสำคัญกับการการพัฒนาองค์กรเป็นอย่างมาก ด้วยว่าการจะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้นั้นจะต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของผู้ปฏิบัติงานเป็นหัวใจสำคัญนอกจากนี้ยังเน้นให้ผู้ปฏิบัติงานตระหนักถึงการทำงานที่มีคุณค่าให้กับสังคม