สภาองค์กรของผู้บริโภค จับมือสถาบันอิศราอบรมนักข่าวที่ภาคใต้ สร้างความร่วมมือ ความรู้ความเข้าใจในการทำข่าวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ระบุ สื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่ช่วยส่งสารและข้อมูลความรู้ไปสู่ผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 17 – 18 มีนาคม 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าว ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 4 ภาคใต้ ที่โรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า หาดใหญ่ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 40 คน ได้แก่ สื่อมวลชนและสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ สร้างทักษะในการคิดประเด็น อีกทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคในการสืบค้นข้อมูล การนำเสนอ การผลิตสื่อเผยแพร่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถืออย่าง Kinemaster, Canva และ TikTok นอกจากนี้ยังมุ่งเป้าให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวในเชิงสร้างสรรค์ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน
จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ กรรมการนโยบาย สภาผู้บริโภค กล่าวว่า แม้จะมีหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ แต่ปัญหาผู้บริโภคยังคงปรากฎให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงได้จัดตั้ง “สภาองค์กรของผู้บริโภค (Thailand Consumers Council : TCC) หรือ สภาผู้บริโภค” หน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจากภาคประชาชน ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้บริโภคที่สามารถจัดทำข้อเสนอนโยบายหรือมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหรือคณะรัฐมนตรีได้อย่างเป็นอิสระ ทั้งนี้การมีสภาผู้บริโภคจะช่วยยกระดับปัญหาผู้บริโภคที่เป็นปัจเจกไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและเพื่อส่งเสริมให้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างยั่งยืนได้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันเราจะเห็นอีกว่าเมื่อผู้บริโภคพบปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ และสิ่งที่ผู้บริโภคทำคือการเข้าไปหาหรือส่งเรื่องไปยังสื่อมวลชน จนสุดท้ายปัญหาได้รับการแก้ไขในไม่กี่วัน จากสาเหตุข้างต้นจึงเห็นความสำคัญของสื่อมวลชนที่สามารถเป็นกระบอกเสียง เป็นสื่อกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารปัญหาต่าง ๆ ไปสู่ผู้บริโภค เพื่อใช้ปกป้องและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของตัวเองและเพื่อเตือนภัยให้กับผู้บริโภครายอื่นไม่ให้ตกเป็นเหยื่อหรือถูกเอารัดเอาเปรียบ
ด้าน ดร.มนตรี จุ้ยม่วงศรี บรรณาธิการข่าวศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา กล่าวว่า ในปัจจุบันจะพบประเด็นข่าวที่สำคัญที่พบอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการหลอกลวงในการซื้อขายออนไลน์หรือการถูกเอารัดเอาเปรียบต่าง ๆ ซึ่งในภาพรวมการจัดการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในทั้ง 4 ภาคทั่วไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นโอกาสที่ดีในการทำงานในอนาคตระหว่างสื่อมวลชนและเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค ขณะที่
“มองว่าอิศราเป็นตัวเป็นตัวกลางที่ทำให้เครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคได้มีโอกาสทำงานและได้ทำความรู้จักกับนักข่าวมืออาชีพที่มีการทำข่าวหรือรายงานข่าวเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าการจัดอบรมฯ ดังกล่าวจะนำไปสู่ความร่วมมือในการทำข่าวเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้” ดร.มนตรี กล่าว
ทั้งนี้ บรรณาธิการข่าวศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา กล่าวถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในปัจจุบันว่า สิ่งที่สื่อมวลชนต้องการและให้ความสนใจกับข่าวนั้น ๆ ก็คือ ข้อมูล เอกสาร และหลักฐานต่าง ๆ ถ้าหากข้อมูลมีความชัดเจนและเป็นประเด็นที่สำคัญจริง ๆ จึงเชื่อว่าไม่มีสื่อมวลชนคนใดที่จะปฏิเสธข่าว โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคหรือมุมมองข่าวผู้บริโภคที่ถือได้ว่าเป็นข่าวเฉพาะด้าน
ปัจจุบันคนจะให้ความสนใจข่าวเฉพาะด้านมากขึ้น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคนหรือประชาชนโดยตรง ดังนั้นการที่จะนำเสนอข่าวปัญหาผู้บริโภคจึงต้องมีการหารือและทำงานร่วมกันในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ หรือเอกสารสำคัญเพื่อนำเสนอข่าวผู้บริโภค
ส่วน ขอขวัญ อินสว่าง หัวหน้าฝ่ายผลิตรายการและข่าว Andaman Channel PA cable TV กล่าวว่า สื่อมวลชนเป็นเหมือนกระบอกเสียงให้กับประชาชนในการร้องเรียน บางครั้งประชาชนอาจไม่รู้ว่าต้องไปร้องเรียนกับใครหรือร้องเรียนที่ใด หรือต้องทำอย่างไรเพื่อให้ปัญหาผู้บริโภคที่พบมาไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเข้ามาจัดการและแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งประชาชนสามารถที่จะแจ้งผ่านสื่อมวลชนได้เพื่อให้ดำเนินการ เผยแพร่ข้อมูลปัญหาที่พบ และแก้ปัญหาเบื้องต้นให้กับประชาชนได้
ขอขวัญ กล่าวว่า การได้มาอบรมมีความรู้สึกประทับใจทุกเรื่อง เพราะการอบรมได้สอนเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำสื่อเพื่อเผยแพร่ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคและการทำความรู้จักกับหน่วยงานภาคประชาชนที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดการเขียนข่าว รายงานข่าวที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันได้
“การร้องเรียนต่าง ๆ ที่พบในชีวิตประจำวัน ทั้งปัญหาร้านอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่อาจไม่ได้มาตรฐานนั้น ที่ผ่านมาเรายังไม่รู้ข้อกฎหมายหรือไม่รู้ว่าต้องร้องเรียนอย่างไร แต่เมื่อได้มาอบรมและได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการร้องเรียน รู้สึกว่ามันละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลาย ๆ อย่าง ซึ่งคิดว่าจะทำให้เราสามารถนำไปรายงานข่าว และทำข่าวได้อย่างครอบคลุมมากกว่าเมื่อก่อน” ขอขวัญ กล่าว
ขณะที่ วุฒิกาญจน์ ศรีรักษา เจ้าหน้าที่สื่อประจำหน่วยงานประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า มีความรู้สึกประทับใจจากการที่ได้พบเครือข่ายสื่อมวลชนที่มีความรู้ความสามารถ และทีมวิทยากรที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญในด้านงานข่าว รวมถึงด้านการผลิตสื่อผ่านการวิดีโอหรือการทำอินโฟกราฟิก ทั้งนี้ ปัจจุบันหน่วยงานประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการทำสื่อเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในหลากหลายรูปแบบ โดยเน้นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัยปัญหาผู้บริโภคในพื้นที่ การทำสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ช่องทางติดต่อ เช่น การประชาสัมพันธ์ว่ากรณีใดที่ควรร้องเรียนหรือเข้าข่ายว่าควรร้องเรียนเป็นปัญหาผู้บริโภค เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริโภคยังมีความสับสนว่าปัญหาใดเป็นปัญหาผู้บริโภค หรือกรณีแบบใดที่สามารถร้องเรียนเป็นปัญหาผู้บริโภค และสุดท้ายคือการเผยแพร่ทักษะ ความรู้ในการร้องเรียนและจัดการปัญหาผู้บริโภคเบื้องต้น
วุฒิกาญจน์ กล่าวอีกว่า ในอนาคตจะมีการนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปปรับใช้กับการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะการผลิตวิดีโอสั้นที่จะนำไปพัฒนาต่อเพื่อกระจายข่าวสาร ข้อมูล รวมถึงสร้างการรับรู้ในประเด็นปัญหาผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น
“ปัจจุบันหน่วยงานประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีทำสื่อเผยแพร่เพียงแค่อินโฟกราฟิก จึงคิดว่าจะนำคลิปสั้นไปพัฒนาต่อ ซึ่งคิดว่าจะช่วยขยายการรับรู้และขยายการคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ได้กว้างมากยิ่งขึ้น และเข้าถึงผู้เสียหายได้มากยิ่งขึ้น” วุฒิกาญจน์ กล่าว