สภาองค์กรของผู้บริโภค จับมือสถาบันอิศรา อบรมสร้างนักข่าวภาคเหนือเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุ สื่อมวลชนจะเป็นตัวกลาง เป็นกระบอกเสียง ช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของปัญหาผู้บริโภคไปสู่ผู้บริโภคได้
เมื่อวันที่ 27 – 28 มกราคม 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าว ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่โรงแรมอโมร่า ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งสื่อมวลชน นักจัดรายการวิทยุ และสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภคในภาคเหนือ เข้าร่วมอบรมกว่า 50 คน
เพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ สร้างทักษะในการคิดประเด็น รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคในการสืบค้นข้อมูล การนำเสนอ การผลิตสื่อเผยแพร่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้กับสื่อมวลชนและองค์กรสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภคในภาคเหนือ รวมถึงยังมีเป้าหมายเพื่อให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวในเชิงสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการและภาครัฐ
สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคเห็นความสำคัญในการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนให้สามารถสื่อสารข้อมูลและเนื้อหาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงร่วมกับสถาบันอิศรา จัดโครงการอบรมนักข่าวฯ ขึ้น เพื่อมุ่งเป้าหมายการอาศัยสื่อมวลชนเป็นสื่อกลาง เป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของปัญหาผู้บริโภคไปสู่ผู้บริโภค เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงหรือยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่เพียงพอที่จะนำไปใช้ปกป้องสิทธิเพื่อคุ้มครองตัวเองจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงสื่อมวลชนยังจะช่วยสื่อสารการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้บริโภคได้ในอีกทาง
ด้าน ดารุณี เมฆสุวรรณ นักสื่อสารมวลชนประจำสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การอบรมผู้สื่อข่าวให้เป็นนักข่าวที่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโครงการที่มีประโยชน์ เพราะทำให้ได้เรียนรู้การใช้แอปพลิเคชันในมือถือตัดต่อวิดีโอและทำภาพอินโฟกราฟิกได้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงยังได้รับรู้ถึงบทบาทการทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค รวมถึงช่องทางการช่วยเหลือผู้บริโภคที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชน จะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปนำเสนอ เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชนที่เป็นผู้บริโภค ทั้งข้อมูลข่าวสารหรือเรื่องเตือนภัยเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคหลงกลหรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ รวมถึงให้ข้อมูลในเรื่องของสิทธิที่ผู้บริโภคควรจะได้รับเมื่อได้ได้รับผลกระทบจากการใช้สินค้าและบริการ และเพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทันด้วย
ขณะที่ อรนิภา หล้าเฟย เจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดหน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ทุกกระบวนการที่ได้อบรมในโครงการฯ นี้เป็นประโยชน์มาก ทั้งการจับประเด็นการข่าว การลองทำอินโฟกราฟิก หรือการผลิตวิดีโอจากแอปพลิเคชันคีเนะ มาสเตอร์ (KineMaster) และติ๊กต่อก (TIKTOK) เนื่องจากยังไม่เคยเข้าร่วมอบรมในลักษณะนี้
รวมถึงยังไม่เคยใช้หรือเรียนรู้แอปฯ ในการตัดต่อวิดีโอหรือทำอินโฟกราฟิกมาก่อน เมื่อได้ลงมือทำด้วยตัวเองทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจและต้องการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นไปอีก อีกทั้งยังเห็นว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเฉพาะการนำไปทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งให้ความรู้และการเตือนภัยผู้บริโภค
“ปกติทำงานด้านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีความรู้ที่จะนำมาผลิตเป็นสื่อวิดีโอหรืออินโฟกราฟิกเลย ดังนั้น เมื่อได้มาอบรมในครั้งนี้ก็จะลองนำเนื้อหาจากที่ตัวเองมีไปผลิตสื่อเพื่อให้ความรู้หรือเตือนภัยให้ผู้บริโภค” อรนิภา กล่าวและว่า จากการอบรมที่ผ่านมายังมีความสำคัญที่ทำให้ได้รู้จักสื่อมวลชนในพื้นที่ภาคเหนือเพิ่มมากขึ้น จึงมีความคิดเห็นว่าหากในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของเครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือพบปัญหาผู้บริโภคหรือต้องการจะให้ข้อมูลความรู้ผู้บริโภค จะส่งต่อให้กับสื่อมวลชนในพื้นที่ช่วยสื่อสารการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคหรือเตือนภัยผู้บริโภคได้
ทั้งนี้ การจัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าว ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคดังกล่าวจะมีการจัดอบรมขึ้นทั้งหมด 2 ครั้ง ได้แก่ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยในครั้งต่อไปจะมีการจัดอบรมขึ้นที่กรุงเทพมหานครในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่จะถึงนี้