สภาผู้บริโภคขอแสดงความยินดีกับคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของผู้ประกันตนและนายจ้าง พร้อมเสนอร่วมมือ และแสดงจุดยื่นร่วมกันในการผลักดันเรื่องการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน
จากการที่สำนักงานประกันสังคมได้จัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 โดยมีผู้ประกันตน และนายจ้างที่ลงทะเบียนเลือกตั้ง จำนวนกว่า 150,000 คน ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ โดยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ได้แก่ 1) ดร.มนตรี ฐิรโฆไท 2) นางวิภาพรรณ มาประเสริฐ 3) นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง 4) นายสมพงศ์ นครศรี 5) นายสุวิทย์ ศรีเพียร 6) นายทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ และ 7) นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ส่วนผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ได้แก่1) นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี 2) นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน 3) นายชลิต รัษฐปานะ 4) นายศิววงศ์ สุขทวี 5) นางสาวนลัทพร ไกรฤกษ์ 6) นางลักษมี สุวรรณภักดี และ 7) นายปรารถนา โพธิ์ดี นั้น
วันนี้ (27 ธันวาคม 2566) ธัญลักษณ์ อู่ทองมาก ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า สภาผู้บริโภคขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับคะแนนเสียง และได้รับความไว้วางใจจากผู้ประกันตน และนายจ้างให้เข้าไปเป็นคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อทำหน้าที่เสนอความคิดเห็นในการพัฒนานโยบายและการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มผู้ประกันตน
ธัญลักษณ์ แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่าการมีผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้างเข้าเป็นคณะกรรมการประกันสังคม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่บทบาทหน้าที่ในการเสนอข้อคิดเห็น การพัฒนาสิทธิประโยชน์ และการบริหารกองทุนประกันสังคมของคณะกรรมการประกันสังคมชุดเลือกตั้งนี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องติดตามต่อไป
“การบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2567 สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างการพิจารณาเตรียมปรับเพดานขั้นต่ำ ในการคำนวณการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน มาตรา 33 จากเดิมขั้นต่ำ 15,000 บาท เป็น 17,500 บาท ทำให้ผู้ประกันตน มาตรา 33 ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น จากเดิมขั้นต่ำอยู่ที่ 750 บาท เป็น 875 บาท โดยมีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพียงบางกรณีเท่านั้น ในขณะที่ด้านบริการสุขภาพ เช่น ทันตกรรม และการรักษาโรคมะเร็งกลับไม่เพิ่มขึ้น” ธัญลักษณ์ กล่าว
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภคได้ผลักดัน เรื่อง การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ด้านทันตกรรม และด้านการรักษาโรคมะเร็ง โดยได้เสนอให้สำนักงานประกันสังคมปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมของผู้ประกันตนให้เทียบเท่ากับสิทธิหลักประกันสุขแห่งชาติ โดยเบิกจ่ายตามอัตราที่จ่ายในการรักษาจริง แทนการกำหนดค่าใช้จ่ายในอัตราไม่เกิน 900 บาทต่อปี และด้านการรักษาโรคมะเร็ง โดยเสนอให้เบิกจ่ายตามอัตราที่จ่ายในการรักษาจริง แทนการกำหนดค่าใช้จ่ายในอัตราไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายต่อปี
ธัญลักษณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค รวมทั้งภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มีแผนจะขอเข้าพบเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และคณะกรรมการประกันสังคมชุดที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อผลักดันข้อเสนอนโยบาย เรื่อง การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนให้ทัดเทียมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีด้านทันตกรรม และด้านการรักษาโรคมะเร็ง