คลินิกชุมชนอบอุ่น โอด สปสช.ค้างจ่ายเงิน กระทบผู้ป่วย เคยจ่ายยาโรคเรื้อรังได้ 2 เดือน เหลือ 7 วัน

ตัวแทนคลินิกชุมชนอบอุ่น เข้าหารือสภาผู้บริโภค เหตุ สปสช.ค้างจ่าย ทำงบฯ ไม่พอกับการรักษา ด้านสภาผู้บริโภค รับโจทย์ ย้ำ! ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญกับการดูแลผู้บริโภคตามสิทธิที่ควรจะเป็นก่อน

วันที่ 4 ตุลาคม 2567 ตัวแทนผู้ประกอบการคลินิกชุมชนอบอุ่น พื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้าพบสภาผู้บริโภค เพื่อหารือกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่จ่ายเงินให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิตามระยะเวลาที่กำหนด เป็นเหตุให้คลินิกชุมชนอบอุ่น กทม.ขาดสภาพคล่องและไม่สามารถจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอสำหรับการรักษาผู้ป่วย

ว่าที่ ร.ต.หญิง รัชฎาภรณ์ ราชแผน ผู้ประกอบการพระยาสุเรนทร์คลินิกเวชกรรม กล่าวถึง กรณีคลินิกไม่ออกใบส่งตัวและไม่จ่ายยาโรคเรื้อรังนั้น เนื่องจาก สปสช. ไม่จ่ายเงินให้กับหน่วยบริการเป็นระยะเวลาถึง 3 เดือน ทำให้ปัจจุบัน คลินิกไม่สามารถจัดสรรงบประมาณสำหรับดูแลผู้ป่วยได้เท่าที่ควร และมีความจำเป็นที่ต้องดูแลผู้ป่วยเจ็บป่วยเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเงินงบประมาณติดลบมากกว่า 3 – 4 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการ สปสช. ไปหลายครั้ง แต่ไม่มีการดำเนินการแก้ไขแต่อย่างใด

ด้านตัวแทนผู้ประกอบการคลินิกชุมชนอบอุ่น ขอให้สภาผู้บริโภคเป็นตัวแทนช่วยเจรจากับ สปสช. ว่าจะช่วยเหลือคลินิกอย่างไร ทั้งนี้ เบื้องต้นต้องการให้ สปสช.จ่ายเงินให้บางงวดก่อน เพราะขณะนี้คลินิกไม่สามารถจ่ายยาโรคเรื้อรังได้เนื่องจากค้างค่ายาและไม่มียาโรคเรื้อรัง

ส่วนกรณีใบส่งตัวต้องขอให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายกับกองทุน Anywhere ก่อน เพราะหากคลินิกเขียนใบส่งตัว คลินิกต้องตามจ่ายเงินร่วมด้วย อย่างไรก็ตามเห็นว่า หลังจากนี้ทุกหน่วยงานต้องหาทางออกในการทำงานร่วมกัน ภายใต้นโยบายรัฐ 30 บาท รักษาทุกที่อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ตัวแทนผู้ประกอบการคลินิกชุมชนอบอุ่น ได้เสนอว่า กรณีหน่วยปฐมภูมิเขต 13 กรุงเทพมหานคร ควรมีระบบอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากระบบของในต่างจังหวัด เนื่องจากการให้บริการด้านสุขภาพมีความแตกต่างกัน

“การที่คลินิกไม่สามารถจ่ายยาโรคเรื้อรังให้ได้ เนื่องจากค้างค่ายากับบริษัท 3 เดือน จึงไม่มียาเพียงพอที่จะจ่ายให้ผู้ป่วย จากเดิมเคยจ่ายให้ได้ 2 เดือน แต่ตอนนี้จ่ายให้ได้เพียง 7 วัน เพราะต้องมาเฉลี่ยจำนวนผู้ป่วยกับยาที่เหลือ หากจ่ายให้ตามเดิมจะทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่ได้ยา และเรายืนยันว่า ไม่ได้ใช้ผู้ป่วยเป็นตัวประกัน เพราะเราจะประสานให้ผู้ป่วยเข้ารับยาได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกนวัตกรรมได้โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว อีกทั้ง ยังสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่เช่นเดิม”

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ล่าสุดอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค ได้จัดทำข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อดันมาตรการเร่งด่วน แก้ปัญหาสิทธิบัตรทองแล้ว ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคจะรับโจทย์และการสะท้อนปัญหาที่หารือกัน เพื่อนำไปหารือกับ สปสช.ต่อไป แต่ยืนยันว่าจะต้องมีการหารือร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกอย่างเป็นระบบและร่วมกันออกแบบระบบที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

สารี ยืนยันว่า สภาผู้บริโภคไม่เห็นด้วยในประเด็นที่จะใช้ผู้บริโภคเป็นตัวประกัน โดยการไม่ออกใบส่งตัวหรือไม่ให้บริการผู้บริโภค เพราะเป็นการสร้างภาระให้ผู้บริโภคและเกิดความไม่สะดวกในการใช้บริการสุขภาพ ดังนั้น เบื้องต้นขอให้คลินิกและสถานพยาบาลดูแลผู้บริโภคตามสิทธิที่ควรจะเป็น และหากมีผู้บริโภคมาร้องเรียนเกี่ยวกับการไม่ออกใบส่งตัวหรือไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ สภาผู้บริโภคจะมีการดำเนินการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

“สภาผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์ชัดเจน เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อมีการร้องเรียนเข้ามาเรามีหน้าที่แก้ไขเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค และทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหา จากข้อมูลที่หารือร่วมกันกับ สปสช. ก็พบว่ามีความพยายามที่จะแก้ไขเรื่องนี้ ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคเห็นถึงความสำคัญของภาคเอกชนหรือคลินิก ที่จะมาช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล ซึ่งต้องทำงานอย่างพึ่งพากัน และให้เป็นธรรมกับทุกส่วน” สารี กล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุด สำนักข่าว HFocus ได้รายงานว่า สปสช. ได้กับงบประมาณทั้งหมดไว้แล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการเร่งรัดการตรวจโดยจะใช้วิธีให้คลินิกช่วยกันตรวจ ซึ่งขณะนี้กำลังมีการปรับระบบ คาดว่าปลายเดือนตุลาคมนี้จะเชิญคลินิกให้มาร่วมตรวจสอบ (อ้างอิง: https://www.hfocus.org/content/2024/10/31869) หากมีความคืบหน้าอย่างไรสภาผู้บริโภคจะรายงานให้ทราบต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากการใช้สิทธิบัตรทอง หรือถูกปฏิเสธใบส่งตัว สามารถร้องเรียนไปยัง สปสช.สายด่วน 1330 หรือร้องมาที่สภาผู้บริโภค สายด่วน 1502