ก่อนจะมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด เคยตั้งคำถามกันไหมว่า ทำไมเราต้องคอยเช็คค่า PM 2.5 ก่อนออกจากบ้าน ทำไมเราต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่เกินค่ามาตรฐานมานานหลายปี โดยไม่ได้รับการดูแลหรือแก้ไขจากภาครัฐ
คำตอบที่จะแก้ปัญหานี้ได้อาจจะอยู่ใน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งแม้ว่าปัจจุบัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา แต่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่ารัฐบาลและทุกภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด (มกราคม 2568) คาดการณ์ว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะสามารถประกาศใช้ได้ภายในปี 2568
ทำไมต้องรอ? ในเมื่อเราหายใจอยู่ทุกวัน
การรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด อาจดูเหมือนเป็นทางออกเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องนิ่งเฉย ในเมื่อเราต้องหายใจอยู่ทุกวัน เรามีสิทธิที่จะเรียกร้องเพื่อปกป้องตัวเองและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้จะยังไม่มี พ.ร.บ.อากาศสะอาด แต่ยังมีกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ในการควบคุมและลดมลพิษ ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้อย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม การควบคุมการจราจร และการจัดการการเผาในที่โล่ง
ได้รับความเสียหายจากมลพิษทางอากาศ ทำอย่างไรดี
ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิของตนเองตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากได้รับความเสียหายจากมลพิษทางอากาศ เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาปัญหา หรือการยื่นเรื่องต่อศาลฟ้องรัฐบาลหากไม่หาทางแก้ไขมลพิษทางอากาศ
ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีคดีสำคัญที่ผู้บริโภคฟ้องรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นและมลพิษทางอากาศ เช่น ผู้บริโภคในจังหวัดเชียงใหม่ฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง และศาลตัดสินว่ารัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าในการแก้ไขปัญหา และสั่งให้รัฐบาลจัดทำแผนแก้ไขปัญหาภายใน 90 วัน
ผู้บริโภคสามารถใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งศาลก็ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา ทำให้เห็นว่าการฟ้องร้องอาจเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ผู้บริโภคสามารถใช้เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเองได้ และการเคลื่อนไหวของภาคผู้บริโภคจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ทั่วโลกต่างเรียกร้องสิทธิในอากาศสะอาด
นอกจากนี้ ยังมีคดีฟ้องร้องรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นและมลพิษทางอากาศในต่างประเทศมากมาย แสดงให้เห็นว่าปัญหานี้เป็นประเด็นระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2562 ผู้บริโภค 32 คนในจาการ์ตาได้ยื่นฟ้องรัฐบาลอินโดนีเซีย เนื่องจากความล้มเหลวในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองหลวง ศาลตัดสินให้รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศ
ด้าน สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกกฎหมายใหม่ที่อนุญาตให้ผู้บริโภคในประเทศสมาชิกสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ หากค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานที่กำหนด นอกจากนี้ EU ยังมีอำนาจในการกำหนดค่าปรับกับประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ
สิทธิในอากาศสะอาด เป็นสิทธิที่ต้องระบุในสิทธิผู้บริโภค
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคให้ความสำคัญและผลักดันประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสภาผู้บริโภคได้เสนอปรับแก้ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. …. โดยเพิ่มสิทธิผู้บริโภคเป็นทั้งหมด 10 ข้อ และมีหนึ่งข้อที่สอดคล้องกับอากาศสะอาด คือสิทธิในการบริโภคที่ยั่งยืนและการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาสิทธิเรื่องสิ่งแวดล้อมจะอยู่ในกฎหมายที่กระจัดกระจายกัน จึงต้องกำหนดเรื่องนี้ไว้ให้ชัดเจนใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ว่า มีสิทธิที่จะดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สิทธิในอากาศสะอาด เริ่มได้หรือยัง
เวทีสร้างการเรียนรู้เพื่อผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด
อุบัติเหตุสารเคมีรั่วไหล 7 ครั้งในรอบ 6 เดือน เรียกร้อง กม. เปิดข้อมูลมลพิษ
หยุด “ฟอกเขียว” ธุรกิจก่อมลพิษ ใครผลิต “ฝุ่นพิษ” ผู้นั้นต้องชดใช้