สภาผู้บริโภค ยื่นฟ้อง ‘ทิพยประกันภัย’ เป็นคดีกลุ่ม กรณีผู้บริโภคหลายรายเคลมประกันโควิดไม่ได้ ระบุ การยื่นฟ้องแบบกลุ่มจะทำให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกันได้รับการชดเชยเยียวยาทั้งหมด
วันนี้ (20 มีนาคม 2566) โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า จากการที่มีผู้บริโภคร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) กรณีได้รับความเสียหายจากการซื้อประกันภัยโควิด – 19 กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายเงินค่าชดเชยรายได้รายวันให้กับผู้เอาประกันภัยจากการติดเชื้อโควิด – 19 นอกจากนี้ตามที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ยังพบว่ายังมีผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกันอีกเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้สภาผู้บริโภคได้มีการเชิญบริษัทฯ หารือและเจรจา แต่ไม่ได้ข้อยุติ ดังนั้น สภาผู้บริโภค ในฐานะผู้แทนของผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และตัวแทนผู้บริโภคจำนวน 5 ราย ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกัน ยื่นฟ้องคดีผู้บริโภคกับบริษัททิพยประกันภัย เป็นคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
“คดียื่นฟ้องผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นคดีสำคัญ เนื่องจากเป็นคดีที่มีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจำนวนมากจากการถูกบริษัทฯ ปฏิเสธและทำให้ไม่สามารถเคลมประกันได้ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม เพื่อให้ผู้บริโภคจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกันได้รับการชดเชยเยียวยา” โสภณ กล่าว
ด้าน สมชาย อามีน ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุถึงเหตุความจำเป็นในการยื่นฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มว่า การยื่นฟ้องของสภาผู้บริโภค และตัวแทนผู้บริโภค รวมทั้งหมด 6 คน มีการยื่นคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มเพื่อคุ้มครองสมาชิกกลุ่ม ซึ่งเป็นผู้บริโภคจำนวนนับหมื่นรายที่ได้ซื้อประกันภัยคุ้มครองการติดเชื้อโควิด – 19 ของบริษัทฯ ดังกล่าว
และขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษจำนวน 5 เท่าของความเสียหายที่โจทก์และสมาชิกกลุ่มแต่ละรายได้รับจากการที่บริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายเงินตามกรมธรรม์ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม และเพื่อป้องปรามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยรายอื่นทำพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภคแบบเดียวกันอีก
“การฟ้องคดีแบบกลุ่มเป็นประโยชน์กับสมาชิกและผู้บริโภคที่เกิดความเสียหายจากการซื้อกรมธรรม์กับบริษัทฯ ดังกล่าว โดยหากมีคำพิพากษาออกมาให้บริษัทฯ ต้องเยียวยานั้นจะทำให้ผู้บริโภคทุกรายที่ซื้อกรมธรรม์กับบริษัทฯ ได้รับการชดเชยเยียวยาทั้งหมด อีกทั้งการดำเนินคดีแบบกลุ่มมีความสะดวก และมีความเป็นธรรมกว่าการดำเนินคดีแบบสามัญทั่วไป” สมชาย ระบุ
ทั้งนี้ ศาลจะมีการนัดไต่สวนคำร้องเพื่อพิจารณาว่าจะรับคดีดังกล่าวเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ หากมีความคืบหน้าอย่างไร สภาผู้บริโภคจะแจ้งให้ผู้บริโภคทราบอย่างต่อไป