ปัจจุบันธุรกิจให้เช่ารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ค่อนข้างเป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการความสะดวกสบายในการเดินทาง โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวหรือช่วงเทศกาลวันหยุดต่าง ๆ
และเมื่อไม่นานมานี้มีผู้บริโภคลงแจ้งเตือนภัย กรณีบริษัทให้เช่ารถยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ อ้างว่าผู้บริโภคทำให้รถที่เช่าไปเกิดความเสียหายขณะที่นำรถมาคืน แต่ผู้บริโภคมั่นใจว่าไม่ได้นำรถไปเกิดอุบัติเหตุหรือเฉี่ยวชนจนทำให้เกิดรอย ต่อมาบริษัทมีการเรียกค่าเสียหายกับผู้บริโภครายนี้ แต่ผู้บริโภคไม่ยินยอมจ่ายค่าเสียหายให้บริษัท ดังนั้น บริษัทจึงฟ้องร้องผู้บริโภคเป็นคดีความ
จากกรณีดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวของบริษัทให้เช่ารถอาจเข้าข่ายหลอกลวงฉ้อโกงผู้บริโภคได้ ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงนำข้อควรรู้ในการใช้บริการรถเช่าให้กับผู้บริโภคเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคพบเจอเหตุการณ์ในลักษณะข้างต้น
ข้อควรรู้กับ ‘การใช้บริการรถเช่า‘
1. ควรเก็บหลักฐานการชำระเงินและเบอร์โทรศัพท์ของผู้ให้บริการไว้ เพื่อความปลอดภัยหรือในกรณีที่รถเกิดเหตุฉุกเฉิน
2. ตรวจสอบเอกสาร ข้อตกลง เงื่อนไขในสัญญาให้ละเอียด เพื่อปกป้องสิทธิ์ของตนเองและป้องกันการทำผิดสัญญาต่อบริษัทรถเช่า
3. ก่อนเช่ารถควรสอบถามข้อมูลกับบริษัทรถเช่า หากเกิดกรณีรถประสบอุบัติเหตุหรือเกิดความเสียหายว่ารถที่เช่ามีประกันรับผิดชอบไหม หากมีประกันควรให้บริษัทแสดงใบรับประกันด้วย และหากเกิดเหตุรถชน ผู้เช่าไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใด ๆ อีก แต่หากมีการเรียกเก็บเงินให้เจ้าของบริษัทเช่ารถและผู้เช่าตกลงกันที่สถานีตำรวจเท่านั้น
4. เมื่อได้รับรถเช่าแล้ว ควรเช็กสภาพรถและตรวจสอบทั้งด้านในและด้านนอกว่ามีสัมภาระของบุคคลอื่นหลงลืมอยู่ไว้หรือไม่ รวมถึงตำหนิตามบริเวณต่าง ๆ ของรถที่มีอยู่แล้ว โดยถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำให้เกิดรอยนี้ขึ้น
5. ควรทดลองขับเพื่อตรวจเช็กว่ารถเช่านี้มีปัญหาหรือไม่ หากพบปัญหาให้รีบแจ้งผู้ให้บริการทันทีก่อนที่จะเช่ารถ
6. เมื่อถึงเวลาส่งมอบคืนรถ ต้องตรวจสอบเอกสารให้ละเอียดอีกครั้งพร้อมรับเงินมัดจำคืน (ถ้ามี) และก่อนส่งมอบรถควรตรวจสอบสัมภาระและของมีค่าของตัวเองภายในให้ครบถ้วน
หากผู้บริโภคพบเจอเหตุการณ์ในลักษณะนี้ สามารถฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายหรือค่าเสียเวลาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ที่ระบุว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
และหากได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าวสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจในพื้นที่โดยเร็วที่สุดหรือแจ้งความออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com หรือโทร 1441 หรือสามารถแจ้งเบาะแสกับสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ตามช่องทางด้านล่างดังต่อไปนี้
- ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
- อีเมล : [email protected]
- โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1, 081 134 3215 หรือ 081 134 3216
- ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
- อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
อ้างอิง :
https://www.chiangmainews.co.th/topstories/2817865/, https://shorturl.asia/4Ce57, https://shorturl.asia/SIO2R