หลัง ‘ปลดล็อกกัญชา’ และทำให้ส่วนของพืชกัญชง กัญชาขายได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นช่อดอก ใบ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก แต่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) พิจารณาเห็นว่าการนำส่วนของพืชมาบริโภค อุปโภค น่าจะยังมีอันตราย โดยเฉพาะการนำช่อดอกไปบริโภคโดยไม่มีมาตรการรองรับ อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตได้
เมื่อ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา สอบ.ส่งหนังสือแสดงข้อห่วงใยถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ในประเด็นการปลดล็อกกัญชา เนื่องจากมีข้อกังวลในประเด็นการบริโภคอาหารผสมกัญชง – กัญชา ดังนี้ (อ่านข่าวเพิ่มเติมที่ : https://www.tcc.or.th/cannabis-control/)
ส่วนของพืชกัญชา กัญชงน่าจะยังมีอันตราย โดยเฉพาะการบริโภคช่อดอก เนื่องจากไม่มีข้อมูลยืนยันเรื่องความปลอดภัย เห็นได้จากข่าวในช่วงนี้ มีประชาชนทานคุกกี้ผสมกัญชาและเกิดอาการบ้านหมุน ซึ่งคุกกี้ดังกล่าวมีการนำดอกกัญชามาใช้เป็นส่วนผสมด้วย
หน่วยงานใดจะเป็นผู้ตรวจสอบร้านอาหาร และจะมีวิธีการตรวจสอบอย่างไรว่า ร้านใส่สาร THC (Tetrahydrocannabinol : THC) (สารที่อยู่ในกัญชา หากใช้พอเหมาะจะทำให้ผ่อนคลาย แต่หากใช้มากไปอาจเป็นอันตราย) ในอาหาร – เครื่องดื่มเกินกว่าที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งประกาศของกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ.2565 ได้กำหนดร้อยละของสารทีเอชซี โดยน้ำหนักต่อเมนูเสิร์ฟ และกำหนดปริมาณการใช้ใบกัญชาที่แนะนำต่อเมนูมาด้วย
ขณะที่มีการกำหนดในกลุ่มอาหาร ดังนี้ กลุ่มทอด ไม่เกิน 0.11 ปริมาณใบกัญชาที่แนะนำต่อเมนู 1 – 2 ใบสด (ไข่เจียว ½ – 1 ใบสด) ผัด ไม่เกิน 0.006 ปริมาณใบกัญชาที่แนะนำต่อเมนู 1 ใบสด แกง ไม่เกิน 0.02 ปริมาณใบกัญชาที่แนะนำต่อเมนู 1 ใบสด ต้ม ไม่เกิน 0.02 ปริมาณใบกัญชาที่แนะนำต่อเมนู 1 ใบสด และการผสมในเครื่องดื่ม ไม่เกิน 0.003 ปริมาณใบกัญชาที่แนะนำต่อเมนู 1 ใบสด
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคจะตรวจสอบหรือทราบได้อย่างไร ว่าร้านอาหารจะใช้ปริมาณใบกัญชาตามที่ประกาศกรมอนามัยฯ กำหนด ซึ่งที่ผ่านมา มีร้านก๋วยจั๊บผสมกัญชาลงไป โดยที่ไม่ได้แจ้งลูกค้าว่าผสมกัญชา เมื่อลูกค้ารับประทานเข้าไปก็มีอาการแพ้รุนแรง มึนงง และอาเจียนออกมา
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่มีข้อห่วงใยเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอีก ได้แก่ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาโดยที่ไม่มีมาตรการรองรับก่อนนั้น ทั้งการไม่มีมาตรการควบคุมการขายอาหารทางออนไลน์ การขาดการติดตามตรวจสอบ และรายงานอย่างเป็นระบบถึงผลกระทบไม่พึงประสงค์จากการบริโภคร่วมกับภาคีต่าง ๆ และภาคประชาสังคม หรือการไม่มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน กรณีผู้บริโภคได้รับผลกระทบในการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา หรือแม้กระทั่งการไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชา เช่น การกำหนดให้ห้ามจำหน่ายในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี การกำหนดปริมาณที่ซื้อหรือครอบครอง เป็นต้น