แพทยสภา ระบุว่า ขณะนี้ได้ยุติ (ร่าง) ข้อบังคับเสริมความงาม ที่เน้นรับรองหลักสูตรระยะสั้นเพื่อรับรองแพทย์เสริมความงาม ย้ำเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
จากกรณีที่แพทยสภาจัดทำ (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวย พ.ศ. …. ที่มีเนื้อหาสำคัญระบุให้ “แพทยสภาทำหน้าที่รับรองการอบรมหลักสูตรการเสริมสวย โดยให้ผู้ผ่านการประเมินได้รับรองผลการประเมินเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวยในเรื่อง” และเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะสภานายกพิเศษ แพทยสภา ลงนามนั้น
สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) มีข้อกังวลใจต่อการออก (ร่าง) ข้อบังคับฯ เพื่อกำกับดูแลการให้บริการทางการแพทย์เกี่ยวกับการเสริมสวยฯ ฉบับดังกล่าว เนื่องจากไม่เพียงขาดองค์ประกอบที่ครบถ้วนจากกรรมการแพทยสภาที่ทั้งเห็นด้วย คัดค้าน พร้อมด้วยแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อันได้แก่ ใบหน้า โสต คอ นาสิก เปลือกตา ฯลฯ แต่ยังขาดองค์ประกอบจากองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและในฐานะผู้แทนผู้บริโภคตามกฎหมาย เนื่องจากมีข้อกำหนดบางประการที่ไม่ได้คำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นเรื่องมาตรฐานแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมเสริมสวยของประเทศไทย
“สภาองค์กรของผู้บริโภคได้จัดทำหนังสือคัดค้าน (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภา ฯ และจัดทำข้อเสนอการคุ้มครองผู้บริโภค ไปยังนายกแพทยสภา, หนังสือคัดค้าน และขอให้ยุติการพิจารณา (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวย พ.ศ. …. ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
รวมถึงจัดเวทีแถลงข่าว “หลักสูตรศัลยกรรมเสริมความงามห้องแถว ไม่ใช่หน้าที่แพทยสภา” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการตั้งคำถามสำคัญถึงมาตรฐานวิชาชีพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค กรณีหลักสูตรเสริมสวยของแพทยสภา เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดในอนาคต
ทั้งนี้ จากการผลักดันประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา คณะทำงานเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้มีหนังสือตอบกลับต่อกรณีข้อกังวลใจต่อการอบรมหลักสูตรเสริมสวย ความว่า “แพทยสภาไม่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับ (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวย พ.ศ. …. แล้ว และการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวยนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสามารถทำได้ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4 บัญญัติไว้”
นอกจากนี้ ยังระบุเพิ่มเติมว่า “การดำเนินการเกี่ยวกับหลักสูตรใด ๆ แพทยสภาจะทำการพิจารณาเพื่อความเหมาะสมที่สุด โดยระยะเวลาในการฝึกอบรมขึ้นอยู่กับชนิดของหัตถการและการรักษานั้น ๆ ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 โดยให้ความสำคัญและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย
และในการที่จะดำเนินการเกี่ยวกับหลักสูตรอบรมใด ๆ จะทำการพิจารณาเพื่อความเหมาะสม ตระหนักถึงความสำคัญ และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 เพื่อควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนให้รัดกุมยิ่งขึ้น”