เข้าพบ กทม. ถกแก้ปัญหาสายสีเขียว

Getting your Trinity Audio player ready...

สภาองค์กรของผู้บริโภค และกลุ่มเยาวชนขนส่งขนสุขสาธารณะ หารือกรุงเทพมหานคร แก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว

วันนี้ (23 ธันวาคม 2565) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม และกลุ่มเยาวชนขนส่งขนสุขสาธารณะ เข้าพบชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และทีมบริหารกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือประเด็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

สารี กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค สนับสนุน ผู้ว่าฯ กทม. ที่จะไม่ต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและต้องการให้มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ภายหลังหมดสัญญาสัมปทานกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) : บีทีเอส (BTS) ในปี 2572

“สภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นว่าการขยายเวลาสัมปทานออกไปอีกจะสร้างภาระกับผู้บริโภคนานถึง 37 ปี และเห็นพ้องกับความเห็นที่ กทม. เสนอให้ใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ในการประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากจะสามารถกำหนดเงื่อนไขเรื่อง มาตรฐานการให้บริการและราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมสำหรับประชาชนได้ และยังมีระยะเวลาจัดทำแนวทางดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนก่อนสิ้นสุดอายุสัมปทาน และขอให้ใช้วิธีการประมูลจ้างการเดินรถหรือทำสัญญาร่วมทุน (PPP) โดยแยกเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาเดินรถและสัญญาหาประโยชน์จากการโฆษณาและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ” สารี กล่าว

ส่วนประเด็นผลผูกพันที่ทำให้ กทม. ต้องขยายเวลาสัญญาสัมปทานกับบีทีเอสจากปี 2572 ออกไปถึงปี 2602 และทำให้บีทีเอสเก็บค่าบริการในอัตราสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 นั้น ขณะนี้ กทม.ได้ส่งความเห็นกลับไปที่กระทรวงมหาดไทยแล้ว โดยมี 3 ประเด็น คือ 1) เห็นพ้องกับนโยบายที่ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ (Through Operation) 2) เห็นควรที่จะเดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และ 3) การหาข้อยุติของ ครม. ตามคำสั่ง คสช. จะทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงาน แต่ทั้งนี้ กทม. ยืนยันว่าต้องรอผลการพิจารณาจาก ครม. อีกครั้ง ขณะที่ความคืบหน้าคดีและภาระหนี้สินของ กทม. และบีทีเอสในขณะนี้นั้น กทม. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว

สำหรับการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 1 และ 2 มีความจำเป็นต้องชะลอออกไปก่อน เนื่องจากติดขัดในข้อกฎหมาย รวมถึงยังเป็นประเด็นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ทั้งนี้ กทม. ได้พยายามเจรจากับบีทีเอสเพื่อหาข้อยุติทางคดีและภาระหนี้สินคงค้างแล้ว

ขณะที่ตัวแทนจากกลุ่มเยาวชนขนส่งขนสุขสาธารณะ ระบุว่า ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามากำกับราคารถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ถูกลง เพราะปัจจุบันประชาชนต้องแบกรับภาระค่าเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันต้องการให้สภาฯ กทม. ที่คนกรุงเทพฯ เลือกเข้ามาทำหน้าที่และฟังเสียงของประชาชนให้มากกว่านี้ อีกทั้งต้องการให้ กทม. สื่อสารข้อมูลของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ทุกคนได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะข้อมูลที่ถูกสื่อสารออกมาในช่วงที่ผ่านมามีความซับซ้อน เข้าใจได้ยาก จนอาจทำให้คนกรุงเทพฯ ไม่สนใจเพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค