4 ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ร่วมค้านต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยืนยัน ระบบตั๋วร่วมและค่าโดยสารต่ำกว่า 65 บาท สามารถทำได้จริง
14 กุมภาพันธ์ 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดงานเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “รถไฟฟ้าต้องถูกลง ทุกคนต้องขึ้นได้ ผู้ว่าฯ กทม. ช่วยได้หรือไม่!” เพื่อให้ประชาชนได้รับฟังวิสัยทัศน์และความเห็นของว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพ
มหานคร ในประเด็นปัญหาราคา และปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้าของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างปี 2572 – 2602) โดยมีว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. 4 คน ได้แก่ รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อิสระ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อิสระ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล และสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมเสวนา
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. ระบุว่า สอบ. คัดค้านเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตั้งแต่ 104 บาท จนถึงปัจจุบันที่ กทม. พยายามจะต่อสัญญาสัมปทานออกไปอีก 30 ปี และใช้อัตราค่าโดยสาร 65 บาท โดยคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการเสนอการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง จึงหวังว่าข้อมูลจากการพูดคุยกับว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 4 คน จะทำให้ ครม.เปลี่ยนใจ ทั้งนี้ สอบ. ทำหนังสือถึง กทม. กระทรวงมหาดไทย และ ครม. ในเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสาย ไม่เฉพาะสายสีเขียว ให้ยึดที่รายได้ขั้นต่ำของประชาชน เพื่อให้ทุกคนใช้บริการได้ โดยสายสีเขียว เสนอราคาไม่เกิน 25 บาท และให้รอผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่มาดำเนินการ ไม่ควรเร่งรีบต่อสัญญาสัมปทาน แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด
ชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญที่เกิดขึ้นกับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว คือ เรื่องความสับสนและความไม่ชัดเจนในรายละเอียด ยกตัวอย่างเช่น มีการทำสัญญาว่าจ้างให้เอกชนเดินรถส่วนต่อขยายไปจนถึงปี 2585 ทั้ง ๆ ที่สัญญาสัมปทานฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในปี 2572 เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความพยายามที่จะขยายสัมปทานไปอีก 30 ปี ถึงปี 2602 มีการกำหนดราคาสูงสุด 65 บาท โดยไม่ผ่านกระบวนการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 จึงไม่เห็นด้วยกับการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้บีทีเอสไปถึงปี 2602 เพราะยังมีเวลาเหลือก่อนที่จะหมดสัญญาปี 2572
ชัชชาติ มีข้อเสนอในประเด็นการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 5 ข้อ ดังนี้ คือ 1) ต้องไม่มีการขยายสัมปทานให้เอกชน ที่จะเป็นภาระให้แก่คนรุ่นต่อไปอีก 1 รุ่น และนำกลับมาสู่กระบวนการกฎหมายร่วมทุน 2) กทม. ต้องเร่งเจรจาแก้ปัญหาหนี้ค่าจ้างเดินรถ และภาระหนี้จากการรับโอนโครงข่าย 100,000 ล้านบาท โดย กทม. ไม่ควรเข้าไปแบกรับภาระการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเขียว เพราะที่ผ่านมา รถไฟฟ้าเส้นอื่น ๆ รัฐบาลก็รับภาระค่าก่อสร้างงานโยธาธิการ 3) เร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปเรื่องค่าโดยสารส่วนต่อขยายทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งเปิดวิ่งมาแล้ว 3 ปี แต่ไม่มีความชัดเจนเรื่องการเก็บค่าโดยสาร 4) ต้องเอาสัญญาค่าจ้างเดินรถถึงปี 2585 มาเปิดเผย เพื่อให้รู้ต้นทุนที่แท้จริง นำไปสู่การคำนวณค่าโดยสารที่ถูกต้อง หลังหมดสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสในปี 2572 และ 5) ต้องนำเส้นทางทั้งหมดมาจัดหารายได้ เช่น ค่าโฆษณาในสถานีตามแนวเส้นทางสายสีเขียว ทั้งนี้ ยืนยันว่า ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเที่ยวละ 25 – 30 บาทนั้น สามารถทำได้
ด้าน รสนา ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เอกชน เนื่องจากในสัญญาฯ ที่จะต่อนั้นมีเงินนำส่งรายได้ที่เอกชนต้องจ่ายให้ กทม. 200,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่มาที่ประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสาร 65 บาท
รสนา ระบุอีกว่า หากได้เป็นผู้ว่าราชการ กทม. จะโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับไปเป็นของรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดการระบบรถไฟฟ้าทุกสายให้เชื่อมต่อกัน ซึ่งจะทำให้เกิดระบบตั๋วร่วม หรือตั๋วโดยสารราคาเดียว หากผู้บริโภคสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าหลายสาย ในราคาไม่เกิน 40 – 45 บาท ก็จะทำให้มีผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากวันละ 1.2 ล้านคน เป็น 3 – 5 ล้านคน ในอนาคต นำไปสู่การแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างยั่งยืน
ส่วน วิโรจน์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะขยายสัมปทานทำให้คนรุ่นลูกต้องมาแบกรับภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง รวมแล้วอีก 38 ปี สิ่งที่ต้องเจรจาและดำเนินการให้ชัดเจน คือ 1. กทม. ต้องไม่ไปแบกรับภาระหนี้ค่าก่อสร้างส่วนต่อขยายจาก รฟม. และ 2. ต้องเจรจาภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถที่มีกับเอกชน 37,000 ล้านบาท และเงินลงทุนจัดหารถอีก 20,000 ล้านบาท โดยต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส และหากจะกำหนดค่าโดยสาร ต้องเป็นไปในอัตราที่คน กทม. ได้ประโยชน์ สามารถใช้บริการได้ โดย กทม. ต้องเข้ามาอุดหนุนเรื่องค่ารถไฟฟ้า และต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส
ด้าน สุชัชวีร์ ระบุว่า ที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากในอดีต กระทรวงคมนาคมไม่ได้คิดวางแผนการพัฒนาเส้นทางการจัดการเดินรถ และเก็บค่าโดยสารโดยคิดให้รอบด้าน พร้อมเสนอแนวคิดว่า สามารถผลักดันนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า ราคา 20 – 25 บาท ให้เกิดขึ้นจริงได้ โดย กทม. สามารถออกพันธบัตรโครงสร้างพื้นฐาน (Bangkok Infra fund) เพื่อระดมทุนมาแก้ภาระหนี้ 30,000 ล้านบาท และนำรายได้มาแก้ไขปัญหาหนี้ของ กทม. รวมถึงเป็นค่าจ้างเดินรถในอนาคตด้วย ทั้งนี้ สำหรับกรณีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กทม. แต่ต้องไม่ทำให้เกิดข้อขัดแย้ง