หยุด! สร้างไปถล่มไป ถนน-สะพานสาธารณะ ต้องมีองค์กรคุมความปลอดภัย

สังคมไม่ทนการก่อสร้างถนน-สะพานสาธารณะด้วยความมักง่ายที่ได้คร่าชีวิตคน และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากในหลายปีที่ผ่านมา ‘สภาผู้บริโภค – เอ้ สุชัชวีร์ – สส. ปูอัด’ ระบุ การก่อสร้างสะพานข้ามแยกหรือสะพานสาธารณะมีระบบป้องกันอุบัติเหตุต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่มีมาตรการป้องกันอุบัติเหตุที่ชัดเจน เพิ่มความเสี่ยงของผู้สัญจรบนท้องถนน พร้อมเสนอทุกโครงการต้องมีประกันภัยเยียวยาและมีมาตรการกำกับความปลอดภัย พร้อมดันองค์กรอิสระกำกับความปลอดภัย เตรียมลงพื้นที่สำรวจจุดเสี่ยงการก่อสร้างที่อันตรายและยาวนานกว่า 30 ปีบนถนนพระราม 2

จากกรณีการก่อสร้างถนน – สะพานสาธารณะเกิดอุบัติเหตุขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนถนนพระราม 2 ที่เกิดเหตุซ้ำซาก และล่าสุดที่สะพานลาดกระบังและบางกะปิ จนส่งผลให้มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตขึ้นนั้น

ล่าสุดสภาผู้บริโภค ชวนนักวิชาการ และ สส. ร่วมย้อนรอยอุบัติเหตุก่อสร้างถนน – สะพานสาธารณะ พร้อมวิเคราะห์ความมักง่ายผู้รับเหมาและการขาดองค์กำกับความปลอดภัยสาธารณะ

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัยจากการก่อสร้างน้อยมาก จะเห็นได้จากการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ที่ใช้เวลาในการก่อสร้างนานทำให้ประชาชนที่สัญจรในพื้นที่ดังกล่าวเดือดร้อน อีกทั้งยังต้องเผชิญปัญหาความไม่ปลอดภัยที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่อุบัติเหตุจะเกิดขึ้นกับตัวเอง

“อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างที่ไม่ได้มีการป้องกันหรือไม่ได้ออกแบบเรื่องความปลอดภัยต่อบุคคลที่ 3 ที่ดี เช่น ถนนพระราม 2 ซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างนานทำให้คนที่เดินทางจากสมุทรสาคร สมุทรสงครามเพื่อเข้ากรุงเทพฯ ทุกวันต้องภาวนาอย่าให้อันตรายเกิดขึ้นกับตัวเอง ซึ่งกฎหมายกล่าวว่าจะต้องทำทางเบี่ยงหรือจำกัดทางก่อสร้างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับการสัญจร แต่กฎหมายไม่ได้มีการบังคับใช้ หรืออาจเป็นปัญหาที่เกิดจากการคอรัปชั่นหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบ” สารี กล่าว

ที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคได้รวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุจากการก่อสร้างทางสาธารณะระหว่างปี 2561 – 2566 พบว่ามีคนเสียชีวิตจากการก่อสร้างถึง 11 รายและบาดเจ็บอีก 34 ราย โดยในปี 2561 พบ 1 ครั้ง ปี 2562 พบ 1 ครั้งและมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ปี 2563 พบ 1 ครั้ง ปี 2564 อุบัติเหตุเริ่มมากขึ้นพบ 3 ครั้ง ปี 2565 พบ 5 ครั้ง และปี 2566 พบ 6 ครั้ง จะเห็นได้ว่าสถิติผู้เสียชีวิตมีมากขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นตามปริมาณการก่อสร้างที่มากและไร้การกำกับดูแล ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคมีข้อเสนอในกรณีการก่อสร้างถนน – สะพานสาธารณะ ดังนี้

1. กระทรวงคมนาคม หรือหน่วยงานรับผิดชอบ ต้องตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยของการก่อสร้างทุกโครงการ อย่างน้อยต้องมีเส้นทางคู่ขนานในการเดินทางที่ปลอดภัย

2. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เวลาก่อสร้างน้อยที่สุด ไม่ใช้เวลานานเหมือนถนนพระราม 2  

3. ขอให้หน่วยงานรับผิดชอบ และบริษัทผู้รับเหมาทุกโครงการต้องมีการทำประกันภัย และชดเชยความเสียหาย บุคคลที่ 3 หากมีความเสียหายและเยียวยาความเสียหายแบบลงโทษ โดยมีอัตราที่แน่นอน เช่น หากมีผู้เสียชีวิตต้องชดเชยเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 7.5 ล้านบาทขึ้นไป

ขณะที่ ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกสภาวิศวกร และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ลาดกระบัง ที่เกิดเหตุสะพานกลับรถถล่มเมื่อเร็ว ๆ นี้ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนเองเคยเตือนล่วงหน้าถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับการก่อสร้างสะพานดังกล่าว ตั้งแต่ 9 สิงหาคม 2565 และ 19 สิงหาคม 2565 แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและยังทำงานแบบไร้มาตรฐานจนสุดท้ายก็พังลงมาและมีผู้เสียชีวิต
 
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์การก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานเช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ที่บางกะปิ เมื่อเดือนเมษายนจำได้ว่าไปช่วยผู้สมัคร สส.พรรคประชาธิปัตย์ เขตบางกะปิ หาเสียง และได้พบว่าสะพานที่รถข้ามของที่บางกะปิรุ่งริ่งมาก ไม่ต้องเป็นวิศวกร แค่เห็นก็รู้ว่ามันอันตราย แต่บ้านเราก็ปล่อยผ่านจนเกิดอับัติเหตุขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก” ดร.สุชัชวีร์ ระบุ

เหตุการณ์ซ้ำซากเช่นนี้เห็นได้ชัดว่าประเทศจำเป็นต้องมีองค์กรที่มีผู้เชี่ยวชาญร่วมกันกำหนดและบังคับใช้ระเบียบมาตรฐานความปลอดภัย ดังนั้น ดร.สุชัชวีร์ จึงเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันลงรายชื่อเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และขาดองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีความเสียหาย หน่วยงานนี้จะเข้ามาดูแลความปลอดภัยที่เป็นอิสระ มีผู้เชี่ยวชาญทำงานเต็มเวลา ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการก่อสร้าง ให้มีการหาหลักฐานตามหลักวิชาการพร้อมทั้งการเตรียมหลักฐานมอบให้ตำรวจและอัยการหลังเกิดเหตุเพื่อดำเนินการต่อผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดบทลงโทษอย่างจริงจังและให้มีการเยียวยาประชาชนที่เที่ยงธรรมและเป็นระบบ

ด้าน สส. ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ หรือที่รู้จักกันในนาม สส. ปูอัด เขตจอมทอง – บางขุนเทียน – ท่าข้าม พรรคก้าวไกล ได้เล่าประสบการณ์ความเดือดร้อนจากปัญหาถนนพระราม 2 ในฐานะคนในพื้นที่และ สส. ว่า พบปัญหาของการก่อสรางถนนพระราม 2 มาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ ก็ยังพบว่าปัญหาเหล่านั้นยังคงอยู่ จึงต้องการ “ปิดตำนานก่อสร้างของถนนพระราม 2 ให้จบในรุ่นของตัวเองให้ได้” เนื่องจากประชาชนต้องเผชิญปัญหาความไม่ปลอดภัยมานานเกิน 30 ปี อีกทั้งที่ผ่านมาชาวบ้านถนนพระราม 2 พยายามทวงถามและบอกถึงความเดือดร้อน แต่บริษัทรับเหมาก่อสร้าง และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ได้ยินเสียงของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น อุบัติเหตุบริเวณที่กลับรถบนถนนพระราม 2 เมื่อ 1 สิงหาคม 2565 กว่า 1 ปีแล้วผู้ที่เสียชีวิตซึ่งเป็นพี่น้องในพื้นที่จอมทอง ยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างจริงใจจากรัฐบาล ดังนั้นจึงได้ร่วมกับสภาผู้บริโภคเพื่อหาทางออกให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหาย และผู้ที่สัญจรไปมาบนท้องถนนให้ได้

“ผมเดือดร้อนตั้งแต่เด็กในฐานะเป็นประชาชนที่สัญจรไปมา แต่พอมาเป็น สส. ก็เจอปัญหาไม่ต่างกัน และชาวบ้านถนนพระราม 2 ในพื้นที่บ้านผมก็เดือดร้อนแบบเดียวกันมานาน ผมตั้งใจว่าจะปิดตำนานถนนพระราม 2 ที่ไม่ปลอดภัยให้ได้ เพราะไม่ใช่แค่อุบัติเหตุเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่สูงกว่าพื้นที่อื่น ปัญหารถติดเพราะมีการปิดการจราจรและไม่เคยได้แจ้งให้ประชาชนทราบเลย วันดีคืนดีถ้าขับรถแล้วคานตกลงมา มีเศษปูนตกลงมา คานถล่มบ้าง สะพานถล่มอีก” สส. ปูอัดกล่าว

ทั้งนี้ สส. พรรคก้าวไกล ระบุเพิ่มเติมว่า สัญญาก่อสร้างถนนพระราม 2 มีสัญญาก่อสร้างถึง 5 สัญญาและทำให้ปัญหาการก่อสร้างหละหลวม ทั้งในการควบคุมความปลอดภัยและเกิดอุบัติเหตุจนนำไปสู่การเสียชีวิต เช่น บริเวณด้านหน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใกล้ถนนพระราม 2  มีเหตุการณ์คานปูนถนนทับคนงานที่ออกข่าวไปเมื่อไม่นานมานี้และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย หลังเกิดอุบัติเหตุหน่วยงานได้ประชุมร่วมกัน และออกกฎก่อสร้างมา 33 ข้อ อาทิ การก่อสร้างถนนพระราม 2 ต้องก่อสร้างหลังสี่ทุ่มเท่านั้น แต่หากผู้บริโภคเดินทางไปในเวลานั้นอาจจะมีคนพบว่ามีการก่อสร้างอยู่ก็เป็นได้

“หากใครที่ขับรถผ่านบนถนนพระราม 2 และพบเจองานก่อสร้างก่อน 4 ทุ่ม สามารถถ่ายรูปและร้องเรียนเข้ามาได้ และเมื่อ 3 วันก่อนประชาชนถ่ายรูปและส่งมาให้ ขนาดมีระเบียบแล้ว แต่คนคุมงานเขาคุมตามระเบียบที่ออกกันมาจริงไหม ผมอยากตั้งคำถามว่าทำตามกฎที่ตั้งกันหรือไม่” สส. ปูอัดเชิญชวน

อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภค พร้อมด้วย ดร.สุชัชวีร์ และสส.ปูอัด ต่างเห็นร่วมกันว่าปัญหาการก่อสร้างมักง่ายและสร้างความไม่ปลอดภัยควรจะได้รับการจัดการไม่ให้เกิดขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะต้องคืนความปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่ถนนพระราม 2 ทั้งนี้ จะมีการลงพื้นที่ไปตรวจสอบและรับฟังปัญหาของชาวบ้านถนนพระราม 2 ที่เดือดร้อนมายาวนาน เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

* สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกสภาวิศวกร และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ สส.ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ พรรคก้าวไกล ร่วมถก ประเด็น “ก่อสร้างมักง่าย เหยื่อสะพานถล่มรายต่อไปอาจเป็นคุณ” ในรายการ “เราไม่ได้บริโภคหญ้าเป็นอาหาร” จัดโดย สภาผู้บริโภค

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค