สภาผู้บริโภคหารือแบงก์ชาติ เดินหน้าถกมาตรการเข้ม สกัดภัยการเงิน – บัญชีม้า ยกระดับความปลอดภัยการเงิน เรียกร้องผลักดันมาตรการหน่วงเงินก่อนโอน ช่วยป้องกันและหยุดยั้งความเสียหายภัยออนไลน์ได้
หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ประกาศแนวทางยกระดับมาตรการจัดการบัญชีม้าและผลักดันแนวทางการร่วมรับผิดชอบของธนาคารและผู้ให้บริการมือถือเพื่อจัดการและแก้ไขปัญหาภัยการเงินนั้น
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภคหารือร่วมกับ ธปท. ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากการที่ ธปท. เพิ่มความเข้มข้นและยกระดับในการจัดการปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน
นางอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองฯ ธปท. ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน ธปท. มีการยกระดับจัดการบัญชีม้า ด้วยมาตรการ ก. มาตรการ ข. มาตรการ ค. คือ 1. ก. การกวาดล้างบัญชีม้าให้ได้มากขึ้น โดยปรับเงื่อนไขการเข้าข่ายเป็นบัญชีม้า และแบ่งสีของบัญชีม้า เพื่อยกระดับการจัดการบัญชีม้าแต่ละระดับให้เหมาะสม 2. ข. การจัดการบัญชีม้าระดับบุคคลที่เข้มข้นขึ้น โดยธนาคารจะมีการขยายการระงับการโอนเงินออกจากบัญชีม้า และการปฏิเสธการเปิดบัญชีใหม่
3. ค. การขยายการจัดการเพื่อแก้ปัญหาให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ธนาคารต้องแลกเปลี่ยนรายชื่อบุคคลที่ธนาคารตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัยระหว่างกันเพิ่มเติม แม้ยังไม่ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย ซึ่งอีกสิ่งที่ธนาคารจะดำเนินการเพิ่มเติม คือ การขยายเรื่องกันเงินเข้า-ออกจากบัญชี และการเปิดบัญชีใหม่ หากเข้าข่ายบัญชีม้าสีน้ำตาลเข้ม คือบัญชีที่ธนาคารสงสัยว่ามีความเสี่ยง แม้ว่ายังไม่มีผู้เสียหายแจ้งความ ก็จะถูกระงับบัญชีและดำเนินการตามกฎหมายภายในเดือนมีนาคม ซึ่งมาตรการนี้ได้ดำเนินการแค่เพียงบัญชีม้าที่มีผู้เสียหายแจ้งความแล้ว
ส่วนการผลักดันแนวทางการร่วมรับผิดชอบนั้น ธปท. มีความเห็นว่า การแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในการรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง หากฝ่ายใดละเลยการปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ควรที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบ และชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นตามหลักการความรับผิดชอบร่วม (Shared Responsibility) โดยสิ่งที่ ธปท.จะดำเนินการหลังจากนี้ หากยังพบว่าผู้บริโภคยังมีการโอนเงินไปบัญชีม้า ธนาคารจะส่งการแจ้งเตือนว่าไม่สามารถโอนเงินได้ แต่ทั้งนี้ยังไม่ถึงขั้นแจ้งว่าบัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีม้า ซึ่ง ธปท. อยู่ระหว่างกระบวนการปรับระบบแจ้งเตือนที่ไม่ใช่เพียงการโอนเงินไม่ได้ แต่จะมีแจ้งสาเหตุเพื่อให้ผู้บริโภคระมัดระวังร่วมด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาผู้บริโภคเสนอมาตรการ 4 ข้อ ฟันมิจฉาชีพ
เปิดฉากสู้โจรไซเบอร์ ดัน “มาตรการหน่วงเงิน”
นอกเหนือจากการที่ธนาคารต้องตรวจจับพฤติกรรมของบัญชีม้า นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า ขอเรียกร้องธนาคารตรวจจับพฤติกรรมที่ผิดปกติของลูกค้าด้วย เช่น หากบัญชีใดไม่เคยโอนเงินครั้งละ 1 ล้านบาทมาก่อน แต่กลับมีการทำธุรกรรมลักษณะนี้ ระบบของธนาคารควรแจ้งเตือนเพื่อให้เจ้าของบัญชีตระหนักถึงความผิดปกติ หรือหน่วงเงินของลูกค้าไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคเชื่อว่ามาตรการ “หน่วงเงินก่อนโอน (Delayed Transaction)” จะช่วยป้องกันและหยุดยั้งความเสียหายจากภัยออนไลน์ได้
“การชะลอการโอนเงินเพื่อตรวจสอบเป็นเป้าหมายที่สภาผู้บริโภคเสนอเพื่อลดผู้เสียหายจากปัญหามิจฉาชีพหลอกลวง และยังเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งก็มีข้อยกเว้น คือ หากผู้บริโภคมีความจำเป็นต้องโอนเงินเกิน 1 หมื่นบาท ก็สามารถติดต่อธนาคารเพื่อปลดล็อกเงื่อนไขนี้ได้” นางสาวสารี ระบุ
ด้าน นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ได้ยกตัวอย่างมาตรการป้องกันการฉ้อโกงทางการเงินในสิงคโปร์ ที่ถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มฟิชชิ่ง กรณีที่เหยื่อถูกหลอกให้คลิกลิงก์หรือกรอกข้อมูลส่วนตัว 2. กลุ่มผู้เสียหายที่ถูกหลอกจนถอนตัวเองไม่ได้ ที่ถูกชักจูงให้โอนเงินต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับคำเตือนแล้วก็ตาม โดยสิงคโปร์ได้ออกกฎหมายพิเศษเพิ่มเติมที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์ สามารถเข้าไปแทรกแซงและสั่งระงับธุรกรรมของผู้เสียหายที่กำลังจะโอนเงินไปยังบัญชีปลายทาง เพราะในหลายกรณีผู้เสียหายสามารถหลุดพ้นจากวงจรการหลอกลวงได้ เนื่องจากมีบุคคลที่สาม เช่น ครอบครัวหรือเพื่อน สังเกตเห็นความผิดปกติและแจ้งเตือนก่อนที่ความเสียหายจะเกิดขึ้น
“หากในไทยมีแนวทาง โดยใช้อํานาจรัฐหรือตํารวจสั่งระงับบัญชีผู้บริโภคที่มีความเสี่ยงจะถูกหลอกลวงและกำลังจะโอนเงินต่อไปยังบัญชีต้องสงสัย หากเข้าไประงับได้ทันท่วงทีเมื่อพบพฤติกรรมจะสามารถระงับธุรกรรมที่อาจเป็นการฉ้อโกงได้และช่วยปกป้องผู้บริโภคที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากต่อการตัดสินใจด้วยตนเอง ซึ่งตรงนี้จะมีข้อกฎหมายเข้าไปรองรับที่จะเข้าไปแทรกแซงในการระงับไม่ให้เกิดได้อย่างไร” อิฐบูรณ์ กล่าว
รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า การหารือร่วมกันระหว่างสภาผู้บริโภคและหน่วยงานกำกับดูแลครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและจัดการภัยการเงินของประเทศไทย ซึ่งสภาผู้บริโภคเห็นด้วยกับมาตรการที่ ธปท. ประกาศออกมา และพร้อมให้ความร่วมมือที่จะช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคในยุคดิจิทัล เพื่อรับมือกับภัยการเงินที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น
ทั้งนี้ ในการหารือร่วมกันข้างต้น มีนางนวลน้อย ตรีรัตน์ ประธานอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค พร้อมทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภค หารือร่วมกับทีมผู้บริหารจาก ธปท. ได้แก่ นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน นางสาวพีรจิต ปัทมสูต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายคุ้มครองฯ และนางอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน