สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดอบรมวิทยากรบอร์ดเกม พัฒนาศักยภาพสร้างภูมิคุ้มกันเท่าทันสื่อ เชื่อผู้เข้าร่วมจะมีส่วนนำความรู้ต่อยอดและสื่อสารให้ผู้บริโภคคนอื่นเข้าใจสิทธิมากขึ้น
สอบ. ร่วมกับมูลนิธิฟรีดิช เนามัน ประเทศไทย จัดอบรมเชิงปฎิบัติการพัฒนาทักษะวิทยากรบอร์ดเกมเพื่อการสื่อสาร (The Training of Trainers : ToT) เมื่อวันที่ 20 – 21 มิถุนายน 2565 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันให้เท่าทันปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ ของสื่อในปัจจุบัน
ไพบูลย์ ช่วงทอง ประธานอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สอบ. กล่าวว่า สอบ.ตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสาร เนื่องจากเห็นว่าจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจ รวมถึงต้องทำให้กระบวนการสื่อสารทั้งระบบมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อที่จะทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือและเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างเป็นมิตรมากขึ้น ดังนั้น จึงนำเกมที่เกี่ยวกับการสื่อสาร โดยนำเกมการ์ดที่ชื่อว่า ‘เกมการ์ดพลังสื่อ’ มาพัฒนาศักยภาพผู้เข้าร่วม
เกมดังกล่าวเกิดขึ้นจากแนวคิดที่จะสร้างเครื่องมือในการส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน โดยเป้าหมายหลัก คือ การใช้เกมเป็นสื่อหรือเครื่องมือในการเข้าถึงเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสื่อรอบตัว ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เล่น รวมถึงกระบวนการคิดวิเคราะห์ด้านการรู้เท่าทันสื่อ
เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ ของสื่อในปัจจุบันโดยไม่ตกเป็นเหยื่อหรือเครื่องมือของสื่อ ภายในเกมจะประกอบด้วยสถานการณ์สื่อตัวอย่างต่าง ๆ และการ์ดรู้เท่าทันสื่อ เพื่อให้ผู้เล่นเกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ ถกเถียงกันในด้านการรู้เท่าทันสื่อและสามารถแก้ไขปัญหาได้
“เชื่อว่าเมื่อสำเร็จการอบรมระดับ 1 ไปแล้ว ผู้เข้าร่วมที่มาอบรมจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรูปแบบการต่อยอดการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และจะเป็นกำลังส่วนหนึ่งในการสื่อสารกระบวนการความรู้ต่าง ๆ ไปยังผู้บริโภคให้เข้าใจสิทธิผู้บริโภค และช่วยกันเฝ้าระวังเพื่อสร้างสังคมที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน” ประธานอนุกรรมการด้านสินค้าฯ กล่าว
นอกจากนี้ ในการอบรมดังกล่าวยังนำประเด็นการรู้เท่าทันสื่อ อาทิ สื่อมีเป้าหมายอะไรในการนำเสนอข่าวนี้ ใช้เทคนิคอะไรในการนำเสนอข่าว หรือเบื้องหลังที่แท้จริงของการนำเสนอข่าวนี้คืออะไร มาปรับใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาผู้บริโภค 8 ด้าน ที่ สอบ.กำลังดำเนินการอยู่ รวมถึงยังวิเคราะห์ถึงปัญหาผู้บริโภคแต่ละประเด็นว่า ประเด็นที่เกิดขึ้น ใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบอย่างไร