เปิดนโยบาย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เสนอแก้ปัญหาสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ‘ทำอย่างไรให้รถไฟฟ้าเป็นขนส่งมวลชนที่ทุกคนขึ้นได้’
ในช่วงนี้ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กำลังลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างคึกคัก แต่ความดุเดือดอยู่ที่นโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ทุกคนต่างหยิบยกประเด็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพมหานครที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ตั้งแต่ปัญหาขยะ น้ำท่วม หรือฝุ่น PM2.5
ขณะเดียวกันความท้าทายใหญ่ที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ต้องเข้ามาบริหาร คือ การพิจารณาสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดสัญญาลงในปี 2572 เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้รถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงและเป็นธรรมที่สุด เพราะที่ผ่านมาการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลายเป็นมหากาพย์ความขัดแย้งระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทยมานานกว่า 3 ปี นับจากปี 2562
ก่อนหน้านี้ แม้ กทม. โดยกระทรวงมหาดไทยเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อสัญญามาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 แต่ 7 รัฐมนตรีสังกัดพรรคภูมิใจไทย พร้อมใจกันลาประชุมและตั้งข้อสังเกต 4 ประเด็นให้กระทรวงมหาดไทยตอบคำถาม และค่อยนำกลับมาให้ ครม. พิจารณาใหม่อีกครั้ง
ขณะนี้ แม้ยังไม่มีการพิจารณาต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “บางอย่างมันก็เกินเลยที่รัฐบาลจะลงไปยุ่งเกี่ยวข้างล่าง มีคณะกรรมการทำมามากมาย ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการทำมาตามกฎหมาย มีการรับรองต่าง ๆ จากฝ่ายกฎหมายก็ว่าไป สิ่งสำคัญที่สุดที่เดือดร้อนคือประชาชน”
ดูเหมือนว่าจากการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีอาจเป็นการส่งสัญญาณและตีความได้ว่า การที่จะต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต้องรอ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่มาร่วมพิจารณา
ดังนั้น ความท้าทายของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จึงไม่พ้นการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งหากลองมาไล่เรียงนโยบายของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเห็นว่าแต่ละคนมีแนวทางในการเสนอทางแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ดังนี้
เริ่มจาก ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล พร้อมเปิดกุญแจไขตู้ นำสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกมาตีแผ่ให้สาธารณะรับรู้ และค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมทั้งผลักดัน ‘ตั๋วร่วม’ 15 – 45 บาทตลอดสาย นอกจากนี้ จะเดินหน้าลดค่าครองชีพด้วยค่าเดินทางที่ทุกคนจ่ายไหว สร้าง ‘ตั๋วคนเมือง’ ซื้อตั๋ว 70 บาท ใช้ได้ 100 บาท อีกทั้งสนับสนุนให้คนหันมาใช้รถเมล์ในกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามเส้นทางเดินรถด้วย
ด้าน ‘สกลธี ภัททิยกุล’ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3 ชู “กรุงเทพฯ ดีกว่านี้” ด้วยนโยบาย 6 ด้าน ด้านที่ 1 การจราจรดีกว่านี้ได้ เชื่อมต่อ ล้อ – ราง – เรือ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล – ทองหล่อ รถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา – สุวรรณภูมิ ระบบนำส่งผู้โดยสารไปยังรถไฟฟ้าฟรีทั่วกรุง (Feeder) ATC (Actual Traffic Control) AI สัญญาณไฟจราจร เดินเรือไฟฟ้า EV ได้แก่ 1. คลองแสนแสบส่วนต่อขยายเข้าเมือง 2 .คลองลาดพร้าว และ 3. คลองเปรมประชากร
ขณะที่ ‘สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 4 พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเห็นว่า อัตรารถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายในอัตรา 20 – 25 บาท สามารถผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริงได้ และอาจออกพันธบัตรโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อระดมทุนมาแก้ภาระหนี้ รวมทั้งนำค่าโดยสารมาแก้ปัญหาหนี้ของ กทม. ตลอดจนค่าจ้างเดินรถในอนาคต
ด้าน ‘พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง’ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 6 ที่ต้องการให้กรุงเทพไปต่อ มีนโยบายขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับเอกชน โดยยกร่างสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี : BTSC) ในฐานะผู้รับสัมปทาน แต่ปัจจุบันเรื่องยังยืดเยื้อ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมและภาคสังคมไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะค่าโดยสารที่ยังมองว่าสูงเกินไป คือ ที่อัตรา 65 บาทตลอดสาย และอาจกลายเป็นภาระประชาชนผู้ใช้บริการในระยะยาว
นอกจากนี้ ยังจะผลักดันให้เกิดระบบตั๋วใบเดียว เพราะในช่วงที่ดำรงตำแหน่งพยายามผลักดันแล้ว แต่ยังเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะมีเจ้าภาพหลายคน
ส่วนม้านอกสายตาที่อาจจะเป็นม้ามืดอย่าง ‘รสนา โตสิตระกูล’ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 7 ประกาศชัดเจนตั้งแต่วันแรกว่าจะไม่ต่อสัมปทานบีทีเอส และควรโอนรถไฟฟ้าให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดูแล เพื่อให้รัฐเป็นหน่วยงานกลางและสามารถกำหนดราคาค่าโดยสารได้ รวมทั้งผลักดันให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหลือเพียงไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย
ขณะที่ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ เบอร์ 8 ระบุว่า จะไม่มีการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เอกชน แต่ใช้วิธีเจรจากับเอกชนในการแก้ปัญหาภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถ
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายโอนสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถไฟฟ้า BTS ที่เหมือนเส้นเลือดใหญ่ให้กับกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับไปดูแลบริหารจัดการ โดยมีเงื่อนไขว่ากระทรวงคมนาคมจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่ำกว่า 25 – 30 บาท ขณะเดียวกัน ต้องสร้างระบบเส้นเลือดฝอย โดยต้องเอาจริงเอาจังกับการทำระบบฟีดเดอร์ (Feeder) หรือระบบการเดินทางที่เชื่อมต่อจากรถไฟฟ้า ทั้งรถเมล์ – วินมอเตอร์ไซค์ – เรือโดยสาร
ส่วน ‘น.ต.ศิธา ทิวารี’ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 เสนอตัวเข้ามาแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้รถไฟฟ้ามีราคาเป็นธรรม พร้อมผลักดันให้เกิดตั๋วร่วมใบเดียวให้กับประชาชน
กล่าวโดยสรุป หัวใจของการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว คือ ทำอย่างไรให้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ‘โปร่งใส เป็นธรรม และไม่ผลักภาระค่าโดยสารให้กับผู้บริโภค’ ซึ่งทั้งหมดคือความท้าทายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ว่า นโยบายใครจะโดนใจคนกรุงเทพฯ มากที่สุด
ก่อนหน้านี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากยังมีเวลานานถึง 7 ปี ในการพิจารณาแนวทางหรือทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อการจัดการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายดังกล่าว ซึ่งหากต่อสัญญาสัมปทานจะทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าโดยสารแพงไปอีก 30 ปี นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่าสามารถทำให้ราคาค่าโดยสารถูกลงในราคา 25 บาท และทุกคนสามารถเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าได้