ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ กับพลังพลเมือง – พลังผู้บริโภคของคนกรุงเทพฯ

ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ กับพลังพลเมือง – พลังผู้บริโภคของคนกรุงเทพฯ ร่วมผลักดันข้อเสนอพัฒนาคุณภาพรถโดยสารขนส่งสาธารณะให้เป็นบริการที่ปลอดภัยคุ้มค่า ราคาเป็นธรรม ผู้บริโภคเข้าถึงได้ทุกคน

ครั้งแรกกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในรอบ 9 ปี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะภารกิจหนึ่งเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานครของสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ร่วมกับ สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ (ภูมิภาคกรุงเทพและปริมณฑล) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการเดินทางสาธารณะในกรุงเทพฯ

โดยหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะเป็นองค์กรผู้บริโภคที่มีภารกิจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคทุกคนทุกด้าน สามารถดำเนินงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว เท่าทันสถานการณ์ และความต้องการ ถือเป็นนวัตกรรมของระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย เป็นโครงสร้างสำคัญของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ภายใต้ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างวัฒนธรรมและมุมมองการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในกระบวนทัศน์ใหม่ว่า “การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย”

และได้ร่วมกับสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ไทยพีบีเอส (ภูมิภาคกรุงเทพและปริมณฑล) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้บริโภคคนกรุงเทพฯ ในด้านสถานการณ์การเดินทางสาธารณะในกรุงเทพมหานคร ภาพรวมการเดินทางสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งรถโดยสารสาธารณะประจำทาง (รถเมล์) รถไฟฟ้า เรือเมล์ประจำทาง และสภาพการเดินเท้า

รวมถึงนำเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบการเดินทางสาธารณะทั้งทางบกและทางน้ำจากประเทศต่าง ๆ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮ่องกง ออสเตรเลีย เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริโภคกรุงเทพฯ และเครือข่ายเพื่อนสื่อสาธารณะกรุงเทพและปริมณฑล มองเห็นภาพการให้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะที่ประชาชนทุกคนในฐานะเป็นผู้บริโภคตามสิทธิผู้บริโภค สามารถใช้บริการได้อย่างสะดวก ปลอดภัย คุ้มค่าและราคาเป็นธรรม

ด้านไทยพีบีเอส (Thai PBS) ในฐานะเป็นองค์กรสื่อสาธารณะ มุ่งเน้นนำเสนอประเด็นข่าวที่เป็นประโยชน์และความคุ้มค่าต่อประชาชน ได้เปิด 10 ประเด็นปัญหาใหญ่ที่หยั่งรากในกรุงเทพฯ เพื่อผลักดันให้ได้รับการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเมืองใหญ่แห่งนี้ ให้เป็นเมืองของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองและการมีส่วนร่วม โอกาสทางเศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม ระบบบริการสุขภาพ ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ใกล้บ้าน รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงและความปลอดภัย การเดินทาง คมนาคม และวัฒนธรรมเมือง

“ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ 65” ได้พาประชาชนคนกรุงเทพฯ ย้อนไปดูต้นตอของปัญหาที่ยังคงเผชิญอยู่ในปัจจุบัน พร้อมเชิญชวนประชาชนและคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริโภคตามกฎหมาย        

ในมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ให้ความสำคัญด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยบัญญัติถึงสิทธิของผู้บริโภคไว้ว่า “สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ*” ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตเมืองใหญ่แห่งนี้ หลังจากถูกแช่แข็งมานานเกือบทศวรรษ

โดยผู้บริโภคสามารถขอคำปรึกษา หรือร้องเรียนประเด็นปัญหาใหญ่ที่หยั่งรากในกรุงเทพฯ และยังไม่ได้รับการแก้ไขได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 ไลน์ออฟฟิเชียล : @ConsumerThai อินบ็อกซ์ไปที่เฟซบุ๊กแฟนเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com/ เพื่อผลักดันให้มหานครกรุงเทพฯ ได้รับการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเมืองใหญ่แห่งนี้ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ของผู้บริโภคทุกคน


* พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการ ดังนี้

  1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภครวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
  2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภคและปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
  3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยมีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
  4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
  5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว (ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค)

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค