“จุดเริ่มของการให้ความสำคัญกับงานเครื่อข่ายคือ เราทำงานเคลื่อนไหว ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งเราไม่สามารถทำคนเดียวได้ ควรจะต้องมีเพื่อน มีภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยกันทำ มีส่วนร่วมในกระบวนการ ด้วยความเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังขับเคลื่อนร่วมกัน ไม่ใช่งานของฉัน ไม่ใช่งานของเธอ แต่เป็นงานของพวกเรา จะทำอย่างไรให้เรารู้สึกมีส่วนร่วม ร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมคิด ร่วมลงมือทำ และร่วมรับผิดชอบไปด้วยกัน…”
แนวคิดของกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค ผู้ที่คลุกคลีอยู่กับงานการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคพลเมืองมาตลอดชีวิตของการทำงาน เริ่มจากการผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จนมีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ก่อร่างสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นการบริการด้านสุขภาพที่รัฐต้องจัดให้เพื่อเป็นหลักประกันการเข้าถึงบริการสาธารณสุข อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม
ตามสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน บนหลักการและปรัชญาสำคัญ คือ “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” ซึ่งนับเป็นการปฏิรูประบบบริการสุขภาพครั้งสำคัญของประเทศไทย โดยมีนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ นักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ริเริ่มผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย ตามแนวคิดและอุดมการณ์ ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ ทดลองปฏิบัติและต่อสู้กับอุปสรรค จนสามารถผลักดันเป็นนโยบายที่สำคัญของประเทศ ให้คนไทยได้ใช้จริงมาจนถึงปัจจุบันนี้
เมื่อผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพสำเร็จ ก็ก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในงานคุ้มครองผู้บริโภค ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ซึ่งในระหว่างนั้นการผลักดันกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคยังไม่สำเร็จ เลยเอาตัวเองเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคต่อ โดยใช้ประสบการณ์ บทเรียน และภาคีเครือข่ายที่หลากหลายจากการผลักดันกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมมือกับสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคในปัจจุบัน) ไปตามเก็บรวบรวมเอกสารรายชื่อผู้เสนอกฎหมายที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในสมัยนั้นได้รวบรวมไว้ และช่วยกันคัดแยกเอกสารที่เก็บมาเนิ่นนานจนปลวกกัดกิน เพื่อรวบรวมให้ได้ห้า หมื่นรายชื่อในสมัยนั้น และเป็นภาพจำมาจนถึงตอนนี้
สะท้อนให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมควรมีความหลากหลายอยู่ในฐานพลังพลเมือง ทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย ภาคประชาชน ภาคการเมือง และสังคม เป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะการจัดตั้ง หรือการมีตัวแทน (Representation) ของประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคที่จะเข้ามาปกป้องและพิทักษ์สิทธิของตนเอง ผ่านการแสดงออกถึงข้อเรียกร้องต่างๆ เพื่อให้เสียงของผู้บริโภคถูกรับฟัง และมีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ โดยเฉพาะในด้านนโยบายการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy)
สภาองค์กรของผู้บริโภคเองก็เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่ร่วมกันก่อร่างสร้างตัวตนขององค์กรผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 46 เกิดเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 มีสถานะองค์กรเป็นนิติบุคคล เป็นตัวแทนผู้บริโภคที่มีความเป็นอิสระ และมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน
ทำไมต้องสร้างการมีส่วนร่วม ในเมื่อเราก็มีความรู้และประสบการณ์มายาวนาน เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานก็เป็นได้
กชนุช เล่าว่า ตนเองในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค มองว่างานคุ้มครองผู้บริโภคโดยภาคประชาชนในปัจจุบันนั้น สามารถดำเนินการได้ทั้งในเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมถึงการฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค เพราะ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เป็นองค์กรที่สามารถฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามกฎหมายได้
โดยเรามีศูนย์ทนายเพื่อผู้บริโภค และศูนย์สิทธิผู้บริโภคภาคประชาชนในกรุงเทพฯ ที่อาสาเข้ามาทำงานด้านการรับเรื่องร้องเรียน และการประสานงานด้านต่างๆ มีศูนย์ประสานงานกับทางชุมชน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งสำนักงานเขต สถานีตำรวจ เป็นต้น จึงให้ความสำคัญกับงานการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในสังคม เพราะความสำเร็จที่ผ่านมาไม่อาจบอกได้ว่าเป็นเราคนเดียวที่ทำสำเร็จ แต่เป็นพลังภาคีเครือข่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนทางสังคมต่างหาก ที่เป็นพลังมวลรวมและเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ ช่วยเสริมจุดอ่อนภาครัฐ สร้างความเข้าใจในเจตนาของการเสนอแนะแนวทางการบริหารราชการที่ดีต่อภาครัฐ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนได้ โดยเฉพาะการเป็นหู เป็นตา เป็นปาก เป็นเสียง ให้ผู้บริโภคก่อนถูกเอารัดเอาเปรียบ
การมีส่วนร่วมสำคัญอย่างไรต่อความเข้มแข็งของผู้บริโภค ก่อนอื่นต้องถามว่า ตอนที่เราเป็นผู้บริโภคไปซื้อสินค้าแล้วเกิดผลกระทบ เราถูกละเมิดสิทธิ เราถูกเอารัดเอาเปรียบ เราทำอย่างไร เรามีความเข้มแข็งพอไหม ในฐานะผู้บริโภคคนนึง เราสามารถปกป้องหรือดูแลตัวเองได้ไหม หรือต้องหาใครมาช่วย อาจเป็นหน่วยงานรัฐ องค์กรภาคประชาชนกลุ่มหนึ่งเข้ามาช่วย ซึ่งในความเข้มแข็งของผู้บริโภคนั้น แท้จริงแล้วไม่มีความเข้มแข็งเลย เมื่อเทียบกับองค์กรที่เราจะต่อสู้ด้วย นั่นก็คือผู้ประกอบธุรกิจ
ถ้าเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ประกอบการร้านค้าธรรมดาทั่วไป ผู้บริโภคก็อาจจะต่อสู้ได้ แต่ถ้าผู้ประกอบการมารวมตัวกันเป็นองค์กรธุรกิจ เป็นบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือ ผู้ประกอบธุรกิจหลาย ๆ บริษัทมีการรวมตัวกัน เรียกว่าหอการค้า ซึ่งรวมตัวกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 ยังมีผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ประกอบการมารวมตัวกันภายใต้กฎหมายจนเกิด สภาอุตสาหกรรม ขึ้นในปี พ.ศ. 2530 และยังไม่รวมองค์กรการค้าระหว่างประเทศอีก เราเคยตั้งข้อสังเกตไหมว่าความเข้มแข็งของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการที่เขารวมตัวกันมานาน ทำให้เห็นว่าองค์กรผู้บริโภคยังไม่เข้มแข็งพอ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เราไม่ควรละเลยและจำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือการเพิ่มเพื่อน ชวนเพื่อนจากหลากหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภค
“เพราะสิทธิผู้บริโภค คือ สิทธิพลเมือง” การคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นตามแนวคิดการเกิดประชาสังคม โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการทางสังคมในการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ และการเผยแพร่ข่าวสารให้แก่ประชาชน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และ พ.ศ. 2541 ในปัจจุบันมีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคโดยภาคประชาชนกระจายอยู่ในทุกจังหวัด และมีเพิ่มมากขึ้นในระดับอำเภอ ตำบล หรือชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น มีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคโดยภาคประชาชนอยู่ในทุกเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เพราะเราเชื่อว่า “พลังผู้บริโภค คือ พลังพลเมือง”
ทุกคนสามารถติดตามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ที่นี่ : https://www.facebook.com/fconsumerthai