การประชุมคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป ครั้งที่ 7/2566 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการนโยบาย และประธานคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาผู้บริโภค เป็นประธานในที่ประชุม ได้มีการพิจารณาเรื่องสำคัญ คือการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีซื้อสินค้าออนไลน์ในรูปแบบการเรียกเก็บเงินปลายทาง Cash On Delivery (COD)
ในการประชุมครั้งนี้คณะอนุกรรมการได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีซื้อสินค้าออนไลน์ในรูปแบบการเรียกเก็บเงินปลายทาง ใน 3 ประเด็น คือ
ประเด็นที่หนึ่งการเปิดบรรจุภัณฑ์หีบห่อก่อนลงลายมือชื่อรับสินค้า เนื่องจากผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเช่นเดียวกันว่าได้รับสินค้าที่ไม่เป็นไปตามที่สั่งซื้อ แล้วผู้ส่งไม่ระบุชื่อ ที่อยู่ ทำให้ไม่สามารถติดตามได้ โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ไอจี ฯ ปัญหาเมื่อผู้บริโภคยินยอมลงนามรับโดยไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงมีข้อเสนอว่าขอให้บริษัทขนส่ง กำหนดให้ผู้ฝากส่ง(ร้านค้า) ระบุชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ ที่สามารถติดต่อได้ และมองว่าผู้ให้บริการจัดการร้านค้าทางออนไลน์ถือเป็นแพลตฟอร์มคนกลางที่จัดการ จึงมีมาตรฐานให้ผู้จัดการร้านค้าทางออนไลน์ว่าต้องมีข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตน และกำหนดข้อมูลบนใบปะหน้าสินค้าให้ครบถ้วนแม้ว่าใบปะหน้าจะเป็นชื่อของผู้รับจัดการระบบ
ประเด็นที่สองการถือเงินค่าซื้อสินค้าชั่วคราวไม่น้อยกว่า 7 วัน เนื่องจากปัญหาการเดินทางในบางพื้นที่ที่ไม่สะดวก ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการต่างๆนานเกินกว่า 2-3 วัน จึงขอให้พิจารณาเรื่องการถือเงินค่าซื้อสินค้าชั่วคราวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน
สำหรับประเด็นสุดท้ายความร่วมมือในการประสานงานเรื่องร้องเรียน ซึ่งสภาผู้บริโภคขอให้มีช่องทางพิเศษในการประสานงานโดยตรงเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคที่ร้องเรียนผ่านสภาผู้บริโภค โดยไม่ต้องผ่านศูนย์บริการลูกค้าที่เป็นเบอร์กลางของบริษัท สามารถร้องเรียนได้ทันที ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ รับฟังข้อมูลแล้วเห็นชอบให้สำนักงานสภาผู้บริโภค จัดทำข้อเสนอถึงบริษัทขนส่งเอกชน กรณีส่งพัสดุแบบเรียกเก็บเงินปลายทาง หรือ Cash on Delivery (COD) โดยพิจารณาจากความเห็นในที่ประชุมประกอบการทำข้อเสนอต่อไป