แม้เทคโนโลยีเอไอและเศรษฐกิจดิจิทัลจะทำให้เกิดการซื้อง่าย – ขายคล่อง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แต่ในทางกลับกันเทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้เพื่อการหลอกลวงประชาชนทั่วโลก รวมถึงภูมิภาคอาเซียน และเอเชียตะวันออก ซึ่งในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาประชาชนในประเทศไทยได้รับความเสียหายจากภัยออนไลน์สูงถึง 65,000 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 180 ล้านบาทต่อวัน โดยในครึ่งแรกของปี 2567 สภาผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนในกรณีดังกล่าวสูงถึง 1,386 กรณี ซึ่งพบว่าเป็นการร้องเรียนที่เกิดจากช่องทางเฟซบุ๊กสูงสุด
นอกจากผู้บริโภคในภูมิภาคแทบนี้ต้องตกเป็นเหยื่อเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี ก็ยังพบว่ามิจฉาชีพเป็นกระบวนการข้ามชาติและมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและเอไอมาใช้ สภาผู้บริโภคจึงริเริ่มการสานพลังผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนบวก จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มาระดมสมองบนเวทีสัมมนาใหญ่ครั้งแรกในไทย ในหัวข้อ “สานพลังอาเซียนบวกสาม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเศรษฐกิจดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์” อัปเดตกลโกงถกความร่วมมือที่เข้มแข็งระดับนานาชาติ พร้อมสร้างนวัตกรรมทันสมัย ปิดเสี่ยงภัยไซเบอร์ วันที่ 29 – 30 ส.ค.นี้ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปรับฟังฟรีทาง https://www.facebook.com/tccthailand
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือสภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า สภาผู้บริโภคร่วมกับองค์กรของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม ได้แก่ กัมพูชา บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สิงคโปร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และประเทศไทย เปิดเวทีนานาชาติระดับภูมิภาคครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สถานการณ์ปัญหา การจัดการการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ร่วมกับกลุ่มองค์กรของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม ตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือขององค์กรของผู้บริโภค หน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องในไทยให้เข้มข้นมากขึ้น เพื่อรองรับการดำเนินการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคจากธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและการใช้เอไอ ให้มีมาตรฐานในการแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วยความเป็นธรรม โดยการสัมมนาในครั้งนี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 29 สิงหาคม และมีการระดมสมองต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม นี้ ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต
สารี กล่าวว่าในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและเอไอก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันและการประกอบธุรกิจ แต่ก็ได้สร้างปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในหลายรูปแบบ และเปลี่ยนแปลงไปมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทั้งการฉ้อโกง การหลอกลวง การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และการใช้อำนาจผูกขาดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ซึ่งในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาประชาชนในประเทศไทยได้รับความเสียหายจากภัยออนไลน์สูงถึง 65,000 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ย 180 ล้านบาทต่อวัน
ในขณะที่สภาผู้บริโภคพบสถิติร้องเรียนการหลอกลวงซื้อสินค้าและบริการทั่วไปผ่านระบบออนไลน์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 สูงถึง 1,386 กรณี เฉพาะข้อมูลล่าสุดในเดือนมิถุนายนมีการร้องเรียน 258 กรณี โดยเป็นการซื้อสินค้าผ่าน Facebook สูงสุด 193 กรณี หรือคิดเป็นสัดส่วน 75% ของข้อร้องเรียนทั้งหมด รองลงมาคือ Lazada และ Shopee 30 กรณีคิดเป็น 12% จาก Merchant Website (การขายสินค้าหรือบริการผ่านเว็บไซต์) 9 กรณีคิดเป็นสัดส่วน 12% , TikTok 11 กรณี หรือ 3% , Line 4 กรณี คิดเป็นสัดส่วน 2% และช่องทางอื่น ๆ รวม 22 กรณีหรือคิดเป็นสัดส่วน 9%
“โลกเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้การหลอกลวงและกลโกงมีความซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น สภาผู้บริโภค จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลที่ทันสมัยรอบด้าน มีการเรียนรู้ประสบการณ์จากหลาย ๆ ประเทศ ตลอดจนการประสานความร่วมมือที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นในระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือที่เหมาะสมทันต่อสถานการณ์ ดังนั้น เวทีสัมมนาในครั้งนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของเราในการแสวงหาโอกาสต่อการสร้างความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคไทยมากยิ่งขึ้น” น.ส.สารี กล่าว
ทั้งนี้ ในเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม จะมุ่งสะท้อนสถานการณ์และการจัดการปัญหาผู้บริโภคด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ และตามด้วยการเสวนาจากผู้แทนองค์กรผู้บริโภคจากประเทศต่าง ๆ ในหัวข้อ “แนวทางและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์” หลังจากการระดมสมองในเวทีต่าง ๆ แล้วการสัมมนานานาชาติครั้งนี้จะนำไปสู่การนำเสนอร่างแผนความร่วมมือของสภาผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในประเทศกลุ่มอาเซียนรวมถึงประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าจะเป็นยุทธการรับมือจากการใช้เทคโนโลยีเอไอที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ที่เข้ามาในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมกันนี้ประชาชนทั่วไปที่สนใจจะสามารถเข้ารับฟังการสัมมนาผ่านการถ่ายทอดสดโดยไม่มีค่าใช้จ่ายทาง Facebook : https://www.facebook.com/tccthailand