แฉเกมรุกมิจฉาชีพ ในเวทีอาเซียน +3 จากยุค 1.0 สู่ยุค 5.0 หลอกด้วย AI

เผยปี 66 คนไทยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพวันละกว่า 2 แสนคน แถมไม่หยุดพัฒนา เอา DATA และ AI เข้ามาหลอกคนได้หลายล้านคนพร้อมกัน นักวิจัยชี้ภัยดิจิทัลข้ามพรมแดนรุนแรงเกินอำนาจการกำกับดูแลของแต่ละประเทศ แนะการรวมกลุ่มผู้บริโภคต้องมีขนาดใหญ่ด้วยการรวมกันข้ามประเทศ

วันที่ 29 สิงหาคม 2567 ในเวทีวิชาการ หัวข้อ “แนวทางและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์” ที่ร่วมจัดในการประชุมผู้บริโภคระหว่างประเทศ อาเซียนบวกสาม นักวิชาการไทยชี้ว่า ความรุนแรงของปัญหาการหลอกลวงในยุคดิจิทัลและเอไอเกิดจากปัญหากฎหมายไทยล้าหลัง ตามไม่ทันเทคโนโลยีโดยเฉพาะสิทธิผู้บริโภคในการค้าดิจิทัล ที่หนักไปว่านั้นคือการเอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการโดยไม่เน้นการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งทางแก้คือการปรับปรุงกฎหมายที่เข็มแข็ง และความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อจัดการปัญหามิจฉาชีพอาศัยช่องว่างทางกฎหมายติการตามตะเข็บชายแดน พร้อมแนะให้เสนอกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ (กม.เอไอ)

เวทีนี้จัดขึ้นโดย สภาผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิผู้บริโภคอินโดนีเซีย (YLKI) และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย (FOMCA) รวมทั้งองค์กรของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม โดยมีเวทีหลักในหัวข้อ “โครงการสานพลังอาเซียนบวกสามเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเศรษฐกิจดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์” ระดับภูมิภาคครั้งแรก ระหว่างวันที่ 29 – 30 สิงหาคมนี้ เพื่อหารือประเด็นปัญหาความท้าทาย และติดตามข้อมูลใหม่ ๆ รวมถึงหาความร่วมมือใหม่ในอาเซียนบวกสาม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทางไซเบอร์แบบองค์รวม 

ยุค ศก.ดิจิทัล คุ้มครองผู้บริโภคต้องมองกว้างกว่าเดิม

เพื่อสะท้อนภาพผลกระทบของประเทศจากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัลเทคโนโลยี นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าจากการศึกษาพบว่า หลายประเทศมีความท้าทาย มีปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคคล้าย ๆ กัน ขณะที่ดิจิทัลนำมาซึ่งประโยชน์หลาย ๆ ด้าน สิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจดิจิทัล กลับมีปริมณฑลที่กว้างขวาง มีห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าข้ามขอบเขตพรมแดนรัฐชาติ การคุ้มครองผู้บริโภคจึงต้องมองให้กว้างกว่าการคุ้มครองแบบเดิม ๆ

นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวอีกว่า การกำกับดูแล การคุ้มครองผู้บริโภคมีพลวัตรเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การคุ้มครองรูปแบบเดิมล้าสมัย รัฐจัดการปัญหาไม่ค่อยทัน ข้ามข้อจำกัดทางกายภาพ ข้ามขอบเขตอธิปไตย รูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้เกิดความคลุมเครือเรื่องการกำกับดูและความคลุมเครือเรื่องความคุ้มครอง ขณะที่ผู้ประกอบการล็อบบี้รัฐให้เอื้อประโยชน์โดยอ้างผู้บริโภค ส่วนรัฐมีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการเพราะไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการบริการสาธารณะ

“เทคโนโลยี กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ในอดีตจะนึกถึงไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง แต่วันนี้ดิจิทัลเป็นโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบใหม่ (Digital Public Infrastructure) บัตรประชาชน บริการภาครัฐ การช่วยเหลือเยียวยาผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยสิ่งที่แทบทุกประเทศเจอ คือ โครงสร้างรัฐไม่เอื้อ ไม่มีงบประมาณ องค์ความรู้ ไม่มีความสามารถผลิต พัฒนา และทำให้คงอยู่ ทุกหน่วยงานพัฒนาเว็บ และแอปพลิเคชันแต่ไม่สามารถทำให้ผู้ใช้ต่อเนื่องได้ ลงเลยมีแนวโน้มรัฐให้เอกชนทำให้ ประโยชน์จึงตกอยู่กับเอกเชน เช่น กูเกิ้ลแมป คือตัวอย่าง ดิจิทัลได้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่” อรรคณัฐ กล่าว

อรรคณัฐ กล่าวถึงการวิจัยยังพบว่า บริษัทขนาดใหญ่มีความสามารถสร้างทั้ง Economy of scale และ Economy of scope การแข่งขันมีแนวโน้มไม่เป็นธรรม กลไกการตลาดถูกบิดเบือน สร้างอำนาจเหนือตลาด แนวโน้มการควบรวมของบริษัทใหญ่ ซึ่งโดยมากจะเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี การควบรวมส่งผลต่อผู้บริโภคหลายด้าน อีกทั้ง บริษัทผลักดันความรับผิดชอบ และความเสี่ยงหลายประการให้เป็นของผู้บริโภค กลไกการรับผิดชอบต่อความบกพร่องและผิดพลาดของสินค้าและบริการมีไม่เพียงพอ บริษัทมีอำนาจต่อรองสูง ซึ่งเป็นภาพที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศ ฉะนั้น ความท้าทาย ปัญหาเศรษฐกิจดิจิทัลข้ามขอบเขตเชิงกายภาพ เกินอำนาจการกำกับดูแลของรัฐแต่ละประเทศ จำเป็นที่ผู้บริโภคต้องรวมกลุ่มกันใหญ่กว่าการรวมกลุ่มผู้บริโภคในประเทศเท่านั้น

อรรคณัฐ ยังให้ความเห็นถึงการจัดการกับมิจฉาชีพ หรือ สแกมเมอร์ข้ามชาติ จะเป็นเรื่องยากและเป็นงานที่ท้าทาย ซึ่งชาติอาเซียนต้องยกระดับความร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่าง ในบางพื้นที่อำนาจรัฐเข้าไปไม่ถึง อย่างชายแดนพม่า มีการทำกิจกรรมผิดกฎหมาย เป็นต้น

เล็งออกกฎหมายปัญญาประดิษฐ์

ส่วน ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงปัญหาเกิดจากเอไอ ปัญหาเอไอแทนตำแหน่งงาน ปัญหาอาชญกรรม การบิดเบือนข้อมูล ประเด็นความน่ากังวลภัยจากเอไอ  ปัจจุบันมีความพยายามปรับปรุงกฎหมายส่งเสริมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

“การออกกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเด็นที่ให้ความสนใจเช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ของเทคโนโลยีเอไอ รวมทั้งเทคโนโลยีเกิดใหม่และที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต” ดร.อัมรินทร์ กล่าว

คนไทยใช้เน็ต 66 ล้านคน แต่ไม่มี กม.พาณิชย์คุ้มครอง

โดยภาพรวมของการเข้าสู่โลกเทคโนโลยีของประเทศไทย ดร.จุฑามาศ ถิระวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ต พบว่า มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต กว่า 63.21 ล้านคน หรือคิดเป็น 88% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ขณะที่เวลาเฉลี่ยการใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันอยู่ที่ 7 ชั่วโมง 58 นาที เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย ประเทศไทยเป็นรองแค่ฟิลิปปินส์ กับมาเลเซียเท่านั้น

“ลักษณะการใช้อินเทอร์เน็ตดังกล่าว เห็นได้ชัดหลังสถานการณ์โควิด – 19 ทำให้วิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนไป ตั้งแต่การซื้อขายสินค้า การใช้บริการต่าง ๆ ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่เดิมใช้อินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ ปัจจุบัน 98.3% ใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้การค้าขายสินค้าหรือบริการผ่านโซเชียลมีเดียโดยตรง ( Social commerce) เป็นที่นิยมมากในอาเซียน” ดร.จุฑามาศ ระบุ

ดร.จุฑามาศ กล่าวถึงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ในเรื่องการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พบว่า กฎหมายที่ตรงมากที่สุด คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ แม้ไม่มีบทนิยามไว้เด่นชัดเหมือนประเทศอื่น แต่ก็ใช้กับธุรกรรมที่เกิดขึ้นทางหน้าร้านและออนไลน์ วันนี้จีน และอินเดีย มีการเปลี่ยนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว โดยเขียนไว้ชัด เพื่อนำมาใช้กับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ของไทยถึงแม้จะมีการแก้ไขล่าสุด ก็ไม่มีระบุว่า จะเอาตรงไหนมาใช้กับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ หลักทั่วไป

“กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จริง ๆ คือ พ.ร.บ.ขายตรง ตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2545 มาตรา 3 มีการแก้ไขล่าสุดปี 2560 ขณะที่กฎกระทรวง กำหนดการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง พ.ศ. 2561 กลับมีความแปลกประหลาด ทั้งที่ พ.ร.บ.ขายตรงฯ  คุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายลูกกลับส่งเสริมความสามารถผู้ประกอบธุรกิจ” อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. ให้ความเห็น และว่า เป็นปัญหาของประเทศไทย มีกฎหมายที่ล้าหลัง โดยเฉพาะสิทธิเฉพาะของผู้บริโภคในการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์   

สำหรับการซื้อขายสินค้าบนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบธุรกิจทุกคนต้องมาจดทะเบียนพาณิชย์ ดร.จุฑามาศ  ได้ตั้งเป็นคำถามทิ้งไว้  มีการมาจดทะเบียนพาณิชย์กันจริงหรือไม่ ไม่ว่า แพลตฟอร์ม โซเชียลมีเดียที่หาตัวตนคู่กรณีอีกฝ่ายไม่เจอ ขณะที่กฎหมายหลายประเทศมีความเข้มข้น เช่น จีน ระบุไว้เลยว่า แพลตฟอร์มหากหาผู้ประกอบธุรกิจไม่เจอ แพลตฟอร์มต้องร่วมรับความเสียหายด้วย

ไทยกำลังมี กม.แพลตฟอร์มดิจิทัล

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวถึงศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 เปิดให้บริการมา 5 – 6 ปี รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาออนไลน์ ปัญหาอีคอมเมิร์ซ โดยมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำปัญหาเหล่านั้นมาหามาตรการป้องกัน ทั้งเรื่องการซื้อขายออนไลน์  เว็บไซต์ผิดกฎหมาย พนันออนไลน์ เว็บไซต์ที่มีสื่อลามก ภัยคุกคามทางไซเบอร์ 

“ที่ผ่านมา ETDA รับเรื่องร้องเรียน ปัญหาเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม แก้ไขได้ยากที่สุด เนื่องจากหน่วยงานรัฐทำงานเป็นไซโล ขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน วันนี้ประเทศไทยกำลังมีร่างกฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัล จะมีการกำหนดหน้าที่แพลตฟอร์ม เช่น ต้องให้ข้อมูลผู้บริโภคก่อนการซื้อ และชัดเจน รวมถึงเรื่องการชดใช้เยียวยา มีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน มีตั้งคณะกรรมการร่วม แก้ไขปัญหาสินค้าจากต่างประเทศ แรงงานที่อยู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ไรเดอร์ เป็นต้น” ดร.ชัยชนะ กล่าว

สคบ. โชว์ระงับข้อพิพาทออนไลน์ในหลายประเทศ

ดร.วิมลรัตน์ รุกขวรกุล เตริยาภิรมย์ ผู้อำนวยการส่วนความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ระบุว่า การทำงานของ สคบ. มีทั้งก่อนและหลังเกิดความเสียหาย การป้องกันก่อนที่จะเกิดความเสียหาย คือ การออกกฎหมาย ประกาศ กฎกระทรวง หรือข้อห้ามต่าง ๆ แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายทางออนไลน์มีเพียง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรงฯ และแม้ว่าจะเป็นพ.ร.บ. ที่ดูแลการค้าออนไลน์โดยตรงแต่ก็ยังมีช่องโหว่ จึงต้องใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาช่วย เช่น กรณีมีการซื้อขายทำสัญญาทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในกฎหมายไม่ได้กำหนดเรื่องการให้ข้อมูลต่าง ๆ กับผู้บริโภคก่อนทำสัญญา แต่สิ่งที่พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรงฯ กำหนดคือเมื่อทำสัญญาไปแล้ว หากเกิดความเสียหายจะต้องมีการเยียวยา 

ส่วนการช่วยเหลือผู้บริโภคหลังเกิดข้อพิพาท ดร.วิมลรัตน์ ยอมรับว่า เรื่องเอไอ สคบ. อาจยังไปไม่ถึง ที่ผ่านมาก็ได้นำเอไอมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน 2 ส่วน คือ 1) ช่วยรับเรื่องร้องทุกข์ การระงับข้อพิพาทออนไลน์ ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2019 หรือประมาณ 5 ปีก่อน และมีการปรับปรุงเป็นระยะเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกิดขึ้น และสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย และ 2) ช่วยจับเบาะแสการฉ้อโกงผู้บริโภคผ่านทางถ้อยคำที่ใช้ในอินเทอร์เน็ต โดยใช้โปรแกรมที่เป็นเอไอในการตรวจจับข้อความโฆษณาซึ่งเป็นถ้อยคำที่เคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่าเอาเปรียบผู้บริโภค หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่มาช่วยดูอีกครั้งหนึ่งเพื่อความถูกต้องซึ่งช่วยลดภาระงานได้มาก 

ในส่วนของความร่วมมือในระดับประเทศ ปัจจุบัน สคบ. มีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น เกาหลี สหราชอาณาจักร และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในเรื่องการระงับข้อพิพาทออนไลน์ อีกทั้งกำลังสร้างความร่วมมือกับประเทศรัสเซียและจะขยายความร่วมมือไปสู่ประเทศอื่น ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ดร.วิมลรัตน์ กล่าวแสดงความเห็นว่า ปัญหาของผู้บริโภคเวลานี้ เหมือนน้ำเต็มขวด จะได้รับการผ่องถ่ายเร็วขึ้น หากสภาผู้บริโภคทำงานร่วมกับ สคบ. โดยแบ่งหน้าที่กัน สคบ.ทำหน้าที่ป้องกัน (Prevention) และปกป้อง (Protection ) เป็นหน้าที่สภาผู้บริโภค น่าจะเป็นทางออกที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคสูงสุด เนื่องจากสภาผู้บริโภคประกอบไปด้วยองค์กรสมาชิกเป็นร้อยองค์กร และกระจายตัวอยู่ในทุก ๆ จังหวะทั่วประเทศ เชื่อจะเป็นฟันเฟืองใหญ่ ขณะที่ สคบ. คนน้อยกว่า มีแค่อำนาจในการออกกฎหมาย จึงควรทำหน้าที่เรื่องการป้องกัน สร้างมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคสามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งจำเป็นต้องให้ความรู้กับผู้บริโภคให้รู้เท่าทันเท่าทันเศรษฐกิจดิจิทัล เท่าทันการซื้อขายออนไลน์ การฉ้อโกงผ่านทางออนไลน์เพื่อให้รับรู้ข่าวสาร และส่งต่อไปยังสังคมคนรอบตัวเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ แต่ต้องยอมรับว่า ยังมีการฉ้อโกงการหลอกลวงและการร้องเรียนของผู้บริโภคอยู่อย่างต่อเนื่องทำให้ สคบ.ต้องมานั่งคิดใหม่ว่า ที่ทำไปถูกทางหรือมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่” ดร.วิมลรัตน์ กล่าว

มิจฉาชีพจากยุค 1.0 – 5.0 หลอกด้วย AI

ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Whoscall ให้ข้อมูลสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยอดสะสม ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 – 31 กรกฎาคม 2567 พบว่า การแจ้งความออนไลน์มีมากกว่า 6 แสนเรื่อง มูลค่าความเสียหายมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท หรือ 78 ล้านบาทต่อวัน โดยเป็นคดีซื้อขายออนไลน์ หลอกให้โอนเงิน หลอกให้ทำงาน กู้เงิน ลงทุน และขมขู่ทางโทรศัพท์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์

ขณะที่ Whoscall จัดทำรายงานประจำปี 2566 ยังพบคนไทยโดนมิจฉาชีพหลอกเพิ่มขึ้น 22% โดยคนไทยตกเป็นเหยื่อวันละกว่า 2 แสนคน และเริ่มเห็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลง หรือวิวัฒนาการกลลวงมิจฉาชีพ จากยุค 1.0 หลอกซึ่งหน้า ยุค 2.0 ใช้โทรศัพท์มือถือ โทรมาหลอก ยุค 3.0 ยุคออนไลน์ เห็นการปลอมแปลงตัวตน สร้างเพจหลอก เป็นคนใกล้ชิด หน่วยงานภาครัฐ หลอกเป็นโรงแรม ยุค 4.0 ถือเป็นยุคหน้ากลัว มิจฉาชีพใช้ฐานข้อมูล (Data) ทำให้เข้าใจเหยื่อมากขึ้น หลอกแบบรู้ใจ เพราะข้อมูลที่รั่วไหลออกไปมิจฉาชีพได้ประโยชน์ รู้ชื่อ ที่อยู่ รู้โฉนดที่ดิน  และยุค 5.0 ยุค เอไอ หลอกด้วย AI มิจฉาชีพเจาะจงเหยื่อได้แม่นยำ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการปลอมตัวตน แทบจะหลอกได้ทุกอย่าง มาด้วยหน้าตาคนที่ใช่ หลอกด้วย AI 

“อายุระหว่าง 30 – 40 ปี ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพมากที่สุด พบเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และคนไทยยังมีความเชื่อว่า ตัวเองจะไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ แต่ดูจากการพัฒนาของมิจฉาชีพแล้ว ยุคนี้อยากที่ผู้บริโภคจะปกป้องตนเองได้” ฐิตินันท์ แสดงข้อมูล และชี้ว่า มิจฉาชีพยุคนี้จะเล่นกับความกลัว ความรัก ความอยาก และไม่หยุดพัฒนา เอา DATA และ AI เข้ามาหลอกคนได้หลาย ๆ ล้านคนพร้อมกัน  นี่คือปัญหาของทุกคน ปัญหาของโลกที่ทุกบริษัทต้องช่วยกันหาเครื่องมือมาป้องกันมิจฉาชีพ

ขณะที่ อลิซ แพม (Ms. Alice Pham) ผู้อำนวยการสำนักงานเอพีวิจัยประเทศเวียดนาม กล่าวว่า รัฐบาลเวียดนามมีความพยายามแก้ไขปัญหาหลอกลวงและการฉ้อโกงออนไลน์ ผ่านเครื่องมือที่ผสมผสาน ทั้งการบังคับใช้กฎหมายความคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคหลายฉบับ รวมทั้งร่างกฎหมายว่าด้วยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการให้การศึกษาและการสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค (Consumer Advocacy) ตลอดจนการดำเนินคดีและการแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศ และปัจจุบันมีไกด์ไลน์สำหรับอาเซียน Consumer Impact Assessment (CIA) จะเป็นแนวทางสนับสนุนหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ทั้งการประเมินผลกระทบของนโยบาย กฎหมาย และ/หรือกฎระเบียบต่อผู้บริโภค  เป็นต้น

สุดท้าย สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบาย สภาผู้บริโภค กล่าวว่า โลกเรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเรียนรู้เอไอ (2020 – 2029) ช่วงนี้เอไอยังไม่ฉลาดเท่ามนุษย์ เพราะอยู่ในช่วงการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่ในทศวรรษหน้า (2030 – 2049) จะเป็นยุคที่เราต้องทำงานกับเอไอ เพื่อนร่วมงานเราส่วนหนึ่งจะเป็นเอไอ อีก 20 ปีข้างหน้า จะเข้าสู่ยุคการใช้ชีวิตร่วมกับเอไอ สิ่งที่กำลังมาถึงเราต้องเตรียมตัวรับมือ

“วันนี้เอไอยังไม่ฉลาด ยังไม่มีการใช้เหตุและผลมากนัก ต้องมีมนุษย์คอยกำกับ แต่หากต่อไปเอไอฉลาดมากขึ้น มีการเรียนรู้ขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นเรื่องน่ากลัว” กรรมการนโยบาย สภาผู้บริโภค ระบุ พร้อมกับเห็นว่า ช่วงที่เรากำลังรอกฎ กติกา ที่รัฐบาลแต่ละประเทศกำลังร่างขึ้นมานั้น ผู้บริโภคเองก็ต้องมีความตระหนักรู้ รู้เท่าทันเทคโนโลยี ท่องไว้เสมอ “อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ และอย่าเพิ่งโอน”

News English Version :: Exposing Cybercrime Strategies in the ASEAN +3 Arena: From Era 1.0 to 5.0 with AI Deception