กลุ่มองค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายป้องกันข่าวลวง (Cofact) เรียกร้อง กสทช. เร่งลงโทษบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือโทษฐานเอาเปรียบผู้บริโภค ไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาเบอร์โทรและข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงที่มีมากถึง 6.4 ล้านเลขหมายในปีที่ผ่านมา สร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคที่หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก พร้อมเรียกร้องให้พัฒนาระบบป้องกันเบอร์โทรศัพท์ลวงโลก หลังผู้บริโภคสุดทนต้องโหลดแอปพลิเคชันบล็อกเบอร์ด้วยตัวเอง
นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยถึงปัญหาการร้องเรียนของผู้บริโภคเกี่ยวกับภัยคุกคามทางออนไลน์ว่า ในปีที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนในประเด็นดังกล่าวจำนวนมาก ซึ่งมาในหลากหลายรูปแบบทั้งบริการส่งข้อความทางโทรศัพท์ (SMS) และการส่งลิงก์ให้ดาวน์โหลด เพื่อรับเงินหรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ การให้เงินกู้ออนไลน์ การพนันออนไลน์ การชักชวนให้ชมภาพอนาจาร ลิงก์รับสมัครงาน ฯลฯ ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าแล้วใครจะเป็นผู้จัดการปัญหานี้ ทางมูลนิธิฯ ในฐานะหน่วยงานเครือข่ายภาคกลางของสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จึงได้จัดตั้งช่องทางร้องเรียนทางไลน์ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีนี้โดยเฉพาะ เพื่อรวบรวมผู้เสียหาย และยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากที่มูลนิธิฯ เดินหน้าเพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ประสานกับบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเพื่อดำเนินการบล็อก SMS ที่มีเนื้อหาหลอกลวงทั้งหมด แต่ไม่แน่ใจว่าการบล็อกดังกล่าวจะเป็นการบล็อกถาวรหรือไม่ และจากการตรวจสอบพบว่ายังเกิดปัญหา SMS หลอกลวงเหมือนเดิม ซึ่งปัจจุบัน มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามากว่า 1,800 ราย จึงได้ยื่นเรื่องให้ กสทช. เอาผิดแก่บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ที่เข้าข่ายการเอาเปรียบผู้บริโภค เพราะไม่สามารถบล็อก SMS หลอกลวง ทำให้เกิดการส่งข้อความโดยไม่ได้รับอนุญาต สร้างความเดือนร้อนแก่ผู้บริโภคอย่างมาก
ปัจจุบัน ปัญหาที่ระบาดหนัก คือ การโทรศัพท์เข้ามาทวงหนี้ ข่มขู่คุกคาม รวมถึงผู้เสียหายหลายรายที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์กดลิงก์และกรอกประวัติส่วนตัว พร้อมทั้งอนุญาตให้เข้าถึงเบอร์โทรศัพท์และข้อมูลในโทรศัพท์ทั้งหมด เพื่อแลกกับเงินกู้ที่ได้ไม่เต็มจำนวน หนำซ้ำพอดำเนินการกู้เรียบร้อยแล้ว ผู้กู้จะต้องโอนค่าธรรมเนียมก่อนที่จะได้รับเงินกู้ ก่อนที่กลุ่มมิจฉาชีพจะหายตัวไป ทำให้เกิดผู้เสียหายจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นในทุกวัน แม้กระทั่งปัญหา SIM เถื่อน ที่รอรัฐเข้ามาจัดการปัญหานี้ด้วยเช่นกัน
“การบังคับใช้กฎหมายด้านการเอาเปรียบผู้บริโภคมีอยู่ชัดเจน แต่ยังไม่เห็นการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค หากนำมาใช้อย่างจริงจัง เชื่อว่าปัญหาจะลดลง เพราะปัจจุบันผู้บริโภคจะต้องดูแลตัวเองด้วยการโหลดแอปพลิเคชัน ทำไมผู้บริโภคต้องจัดการปัญหาด้วยตนเองในเมื่อรัฐมีอำนาจในการจัดการปัญหาเรื่องนี้ มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายโดยตรง รัฐต้องใช้ดาบที่มีในมือให้ศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบัน SIM เถื่อนก็มี จะจัดการปัญหาตรงนี้อย่างไร” นฤมล กล่าว
ปัจจุบัน ปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ถือเป็นปัญหาหลักที่หลายประเทศกำลังเผชิญ อาทิ ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น โดยจะมีรูปแบบการหลอกลวงที่แตกต่างกันไป สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากรายงานพบว่า ในปีที่ผ่านมามีหมายเลขโทรศัพท์ของมิจฉาชีพสูงถึง 6.4 ล้านเลขหมาย และช่วงครึ่งปีหลังมีอัตราการโทรหลอกลวงเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี สร้างความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคจำนวนมาก จนหลายคนต้องป้องกันปัญหาด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ช่วยแจ้งเตือนเบอร์มิจฉาชีพ และหนึ่งในแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมคือ ฮูสคอล (Whoscall)
สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช.และผู้ก่อตั้งโคแฟค (Cofact) ประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการป้องกันข่าวลวง กล่าวว่า เมื่อไม่สามารถคาดหวังการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังได้ ผู้บริโภคก็ต้องพึ่งตนเองด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ฮูสคอล (Whoscall) เมื่อมีเบอร์โทรศัพท์หรือ SMS หลอกลวงเข้ามา แอปฯ ดังกล่าวก็จะแจ้งเตือนว่าเป็นเบอร์มิจฉาชีพ เพราะผู้เสียหายก่อนหน้าดำเนินการแจ้งไว้ในระบบ ทำให้สามารถป้องกันการถูกหลอกลวงได้ ทั้งนี้ ต้องการให้ผู้บริโภคคอยดูแลตัวเอง ต้องไม่เชื่อไว้ก่อน และดำเนินการตรวจสอบเพื่อหาความจริง จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ทั้งนี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ก็ต้องตรวจสอบและบล็อกเบอร์อันตรายเหล่านั้นตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งในต่างประเทศได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ในออสเตรเลียใช้ระบบ AI เพื่อตรวจจับ และประมวลผลการร้องเรียนจากผู้เสียหายเพื่อดำเนินการบล็อกตั้งแต่ต้นทาง เช่นเดียวกับในอังกฤษ ที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาฟังก์ชันในมือถือ หากใครที่ประสบปัญหา SMS หลอกลวงก็ให้กด 7726 เมื่อกดแล้วจะเป็นตัวอักษร SPAM หรือสแปม เบอร์ดังกล่าวก็จะถูกส่งไปยังฐานข้อมูลของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ เพื่อดำเนินการบล็อกเบอร์ดังกล่าว หากใครที่ถูกหลอกไปแล้วก็จะเปิดหน่วยงานรับร้องเรียนเพื่อให้ฝ่ายกฎหมายเข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาต่อทันที ในรูปแบบบริการเบ็ดเสร็จ (One-stop service ) เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งในไทยเอง กสทช. ต้องร่วมกับบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ประสานกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย เพื่อจัดการปัญหาให้แก่ผู้บริโภคอย่างเป็นระบบ จึงจะแก้ปัญหาที่ต้นทางได้ ควบคู่ไปกับการที่ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันและช่วยเหลือตัวเอง โดยการไม่ทำให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อด้วยการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี
“แม้บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือหลายราย จะแก้ต่างว่าตัวเองเป็นผู้ให้บริการด้านระบบสาธารณูปโภคเท่านั้น แต่ก็เห็นหลายค่ายเช่นกัน ที่เริ่มมองเห็นทางตันของธุรกิจ และประกาศขยายบริการสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Tech-company) ที่สามารถผลิตแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้ ก็อยากให้เริ่มจากการทำแอปฯ ที่ช่วยเตือนภัยและบล็อกเบอร์โทรของกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างมาก หรือหากไม่มีแผนขยายธุรกิจก็สามารถร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาระบบ เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาได้ ดังเช่นที่หลายประเทศดำเนินการจนประสบผลสำเร็จ เพราะผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบ ก็พร้อมจะรายงานปัญหาให้ทราบอยู่แล้ว ในยุคต่อจากนี้ที่ เมตาเวิร์ส (Metaverse) หรือยุคโลกเสมือนเข้ามามีอิทธิพล เราก็ต้องเร่งให้ความรู้กับผู้บริโภคให้รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์อย่างเหมาะสม” สุภิญญา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ โคแฟค จุดประกายทางแก้ที่ต้องการให้ กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือแสดงความรับผิดชอบ และพร้อมแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ในขณะที่ พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ เที่ยงกมล รองผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2 (บก.สอท. 2) แนะนำผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากกลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์ให้เข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อเป็นหลักฐานใช้ในการดำเนินคดี ซึ่งต้องสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนถึงโลกความเป็นจริงก่อนว่า ไม่มีใครจะปล่อยกู้ให้ได้หากไม่มีหลักค้ำประกัน ต้องไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน ตรวจสอบข้อมูลให้ชัด ให้ชัวร์ หากการกู้ยืม เราต้องเป็นฝ่ายนำเงินให้ผู้ปล่อยกู้ก่อน ก็ขอให้คิดเสมอว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ หลักคิดคือจะกู้เงินจากเขา ต้องรอเงินจากเขา ไม่ใช่เอาเงินเราไปให้เขา แม้กระทั่งไปยื่นกู้ที่ธนาคาร ธนาคารก็ไม่เคยบอกให้นำเงินไปให้ก่อน
ความสำเร็จของมิจฉาชีพในยุคนี้ คือ การที่คนไทยขายบัญชีธนาคารให้กลุ่มมิจฉาชีพ หรือที่เรียกว่า “บัญชีม้า” เพื่อรอรับเงินโอนจากผู้เสียหาย เมื่อถึงขั้นตอนการสืบสว แม้จะอ้างว่าไม่รู้เรื่อง แต่กฎหมายก็ระบุไว้ว่าเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการฉ้อโกงอย่างชัดเจน จากการประสานไปยัง กสทช. เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน กสทช. ได้ประสานไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ เพื่อกำหนดให้ผู้ใช้บริการแต่ละคน มีหมายเลขของตนเองได้ไม่เกิน 5 หมายเลข ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ปัญหาดีขึ้น และสุดท้ายของเส้นทางปัญห คือ ธนาคารก็ต้องกำหนดมาตรการป้องกันร่วมด้วยเช่นกัน
“การหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพจะแบ่งเป็น 3 รูปแบบหลัก ประกอบด้วย ส่วนของแอปพลิเคชันหลอกลวง ซึ่งภาครัฐต้องเร่งหาวิธีการเพื่อกำจัดแอปฯ เหล่านี้ให้เร็วที่สุด ส่วนที่สองเป็นระบบเสียง กสทช. ต้องเข้ามาดำเนินการไม่ให้เบอร์โทรต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้ และส่วนที่ 3 เป็นข้อความ SMS ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือต้องพัฒนาระบบแบบสองด้าน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถดำเนินการร้องเรียนได้ทันที และส่งเบอร์เหล่านั้นไปยัง กสทช. เพื่อส่งต่อมายังกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อหาช่องทางจับกุมคนร้ายต่อไป” พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ เสนอแนะวิธีแก้ปัญหา
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ.กล่าวว่า เวลาพูดถึงเรื่องโทรศัพท์ ปัจจุบันมีมากถึง 80 ล้านเลขหมาย ซึ่งมีมูลค่าระดับ 1,000 ล้านบาทได้ จึงเป็นประเด็นสำคัญและรุนแรงมาก คือ การชักชวนให้เล่นการพนันออนไลน์ มีวิธีการที่ถึงตัวผู้บริโภคเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน เมื่อทราบว่าสามารถกู้เงินได้ง่าย ก็จะยิ่งทำให้ตัดสินใจกู้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะเป็นช่องทางที่มีโอกาสได้โดยง่าย ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่มาก
สอบ. เชื่อว่าผู้บริโภคทุกวันนี้ช่วยเหลือตัวเองอยู่ทุกคน ดังนั้น ต้องการเห็นการจัดการที่เป็นระบบของ กสทช. และบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ การทำเช่นนี้เข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคชัดเจนตามประกาศเอาเปรียบของ กสทช. ซึ่งเป็นการใช้โครงข่ายของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเอาเปรียบผู้บริโภค ที่ระบุว่า กสทช. มีอำนาจปรับได้สูงถึง 5,000,000 บาท หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหายังสามารถปรับได้ไม่เกินวันละ 100,000 บาท คือ ถ้าทำจริงจังตามที่กฎหมายระบุ น่าจะทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเริ่มเกิดความตระหนักและเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่มากขึ้น เราต้องการเห็นความร่วมมือถ้วนหน้าจากผู้ให้บริการเครือข่าย ให้สนับสนุนช่วยเหลือผู้บริโภคได้ เพราะการที่ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือขายเบอร์โทรศัพท์ให้แก่กลุ่มมิจฉาชีพก็ถือเป็นเรื่องที่ผิด ดังนั้น จึงต้องการจะเห็นความตั้งใจจริงในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ที่ยากจะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องได้
“ปัจจุบันผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือในไทยมีจำนวนไม่มากนัก และอาจจะมีแนวโน้มลดลงได้ในอนาคต หาก กสทช. ไม่เข้ามาดำเนินการ การที่ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยก็ยิ่งทำให้การตัดสินใจเปลี่ยนค่ายเป็นไปได้ยาก เมื่อมีความจำกัดทุกส่วน ประเด็นนี้ก็น่าจะเป็นประเด็นเร่งด่วนที่บอร์ด กสทช. ชุดใหม่ต้องพิจารณาดำเนินการ เพราะสามารถทำได้ภายใต้กติกาทุกอย่างที่ กสทช. มี ในเชิงภาพรวมได้สร้างความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคอย่างมาก หาก กสทช. ไม่เร่งแก้ไข ก็จะยิ่งสร้างความเสียหายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ผู้บริโภคก็มีโอกาสถูกหลอกในด้านการเงินเพิ่มขึ้น เช่น การชักชวนให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ การชักชวนให้เล่นคริปโตฯ ซึ่งคาดว่าการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือการธนาคารจะมีให้เห็น และพัฒนารูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นแน่นอน” สารี กล่าวเสริม