ย้ำ ชดเชยผู้เอาประกันอาคเนย์ฯ ต้องคำนึงถึงค่าเสียโอกาส 5 เท่า

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ย้ำ ชดเชยผู้เอาประกันอาคเนย์ ต้องคำนึงถึงค่าเสียโอกาส พร้อมเสนอ คปภ. รายงานสถานะการประกอบการของบริษัทประกันภัยต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคทราบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

จากกรณี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รับคำขอเลิกกิจการ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ออกประกาศให้ผู้ที่ซื้อประกันภัยโควิด – 19 ที่ยังไม่เคยแจ้งขอรับเบี้ยประกัน สามารถแจ้งความประสงค์เพื่อขอรับเบี้ยประกันภัยคืนเต็มจำนวนผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัทได้ ตั้งแต่วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จนถึงวันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ทั้งนี้ ในกรณีที่ลูกค้าไม่ประสงค์จะรับคืนเบี้ยประกันภัยโควิด-19 กรมธรรม์ของผู้ซื้อประกันจะยังคงมีผลบังคับ ตราบเท่าที่บริษัทยังคงประกอบธุรกิจประกันภัยอยู่นั้น

จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สอบ.กล่าวว่า การที่บริษัทประกันภัยแก้ปัญหาโดยขอเลิกกิจการ ถือว่าเป็นผลเสียกับผู้บริโภคมากกว่าการที่ คปภ. มีคำสั่งให้เลิกกิจการ เนื่องจากเมื่อบริษัทฯ ขอเลิกกิจการเอง กองทุนประกันวินาศภัยจะไม่เข้ามาดูแล นั่นหมายความว่าผู้บริโภคมีโอกาสที่จะถูกลอยแพ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ว่าผู้ประกอบการจะมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด ดังนั้น จึงเป็นเส้นทางที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค

“วิธีการที่บริษัทฯ เลือกใช้ อาจจะมองได้ว่าบริษัทต้องการตัดช่องน้อยแต่พอตัว คือปิดกิจการเพื่อระงับหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะหนี้ที่เกิดจากเบี้ยประกันถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับหนี้ที่เกิดจากการเคลมประกัน ดังนั้น การประกาศให้ผู้บริโภคยกเลิกจะทำให้เสียแค่ค่าเบี้ยประกัน ซึ่งเป็นผลดีต่อบริษัท แต่ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจริยธรรม คุณธรรมของผู้ประกอบธุรกิจ จึงอยากให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคมากกว่านี้” จิณณะ ระบุ

อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สอบ. กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าได้ติดตามคำสั่ง คปภ. จะเห็นว่า คปภ. ได้ออกข้อกำหนดและเงื่อนไข 5 ข้อ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 เพื่อตรวจสอบวิธีการที่บริษัทจะดูแลกรมธรรม์ที่เหลืออยู่ หากเงินสำรองของบริษัทฯ มีอยู่ไม่เพียงพอก็ต้องไปเพิ่มทุนก่อน และในกรณีที่บริษัทไม่สามารถหาทุนมาเพิ่มเติมได้ คปภ. อาจจะมีคำสั่งให้ปิดกิจการ ซึ่งในกรณีนี้ ผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันวินาศภัย กรมธรรม์ที่ยังมีผลอยู่จะถูกเฉลี่ยไปให้บริษัทประกันภัยอื่น ๆ ที่มีสถานะเป็นบริษัทที่ประกอบการอยู่ ส่วนผู้บริโภคที่ต้องการขอเบี้ยประกันคืน จะได้รับความดูแลจากกองทุนฯ ด้วย

ด้าน โชติวิทย์ เกิดสนองพงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการ อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สอบ. ระบุว่า หากบริษัทประกาศให้ผู้บริโภคไปยกเลิกกรมธรรม์โดยจะคืนเบี้ยประกันภัยนั้น ควรคืนเบี้ยประกันพร้อมเงินค่าเสียโอกาสของผู้บริโภคที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ รวมถึงให้สิทธิผู้บริโภคเลือกโอนสิทธิย้ายกรมธรรม์ของตัวเองไปบริษัทประกันภัยอื่นโดยสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ต้องไม่ลดลง ทั้งนี้ ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกว่าจะยกเลิกสัญญาหรือไม่ยกเลิกก็ได้ และหากต้องการยกเลิกสัญญา ผู้บริโภคสามารถยกเลิกได้โดยไม่ต้องถูกจำกัดระยะเวลาอยู่ภายในวันที่ 1 – 7 กุมภาพันธ์ 2565 เท่านั้น

โชติวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่บริษัทประกาศในทำนองว่า หากผู้บริโภคไม่ดำเนินการขอคืนเบี้ยประกันภัยตามเวลาที่บริษัทฯ กำหนด อาจไม่ได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยนั้น อาจไม่เป็นความจริงเสียทีเดียว เพราะถึงแม้ คปภ. จะรับคำขอเลิกกิจการของบริษัทฯ แต่ก็ยังไม่มีคำสั่งอนุญาตให้เลิกกิจการ ซึ่งการที่ คปภ. จะมีคำสั่งได้นั้น บริษัทต้องทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 นอกจากนี้ ตามมาตรา 50/1 ของ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย กำหนดว่า คปภ. มีอำนาจให้บริษัทประกันภัยเปิดเผยข้อมูลการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท ว่ามีความสามารถในการดำเนินธุรกิจต่อไป เพื่อให้ผู้บริโภคและคู่ค้าเกิดความเชื่อมั่น

ทั้งนี้ สอบ. มีข้อเสนอไปยัง คปภ. 3 ข้อ ดังนี้

  1. ขอให้ คปภ. พิจารณาคำขอเลิกกิจการของบริษัท อาคเนย์ฯ โดยคำนึงถึงสิทธิผู้บริโภคเป็นหลัก
  2. ในการคืนเบี้ยประกันภัย ในกรณีที่บริษัทประกาศเชิญชวนให้ผู้เอาประกันยกเลิกสัญญาประกันภัยกับบริษัทนั้น เห็นว่าารคืนเบี้ยประกันภัย ควรมีการคืนเบี้ยประกันพร้อมเงินค่าเสียโอกาส 5 เท่าจากเบี้ยประกัน เนื่องจากเป็นการเสียโอกาสของผู้เอาประกันที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์
  3. ขอให้ คปภ. เรียกบริษัทประกันภัยต่าง ๆ ส่งรายงานสถานะการประกอบการประกันภัย และรายงานผู้บริโภคทราบ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าบริษัทประกันภัยอื่น ๆ จะไม่มีปัญหาแบบบริษัท อาคเนย์ฯ ทำให้คู่สัญญา เช่น โรงพยาบาล อู่ซ่อมรถ ไม่ปฏิเสธการเคลมกับผู้เอาประกันภัย

สำหรับผู้บริโภคที่ซื้อกรมธรรม์กับบริษัท อาคเนย์ประกันภัยฯ หรือบริษัท ไทยประกันภัยฯ และได้รับผลกระทบจากการยกเลิกดังกล่าว สามารถร้องเรียน ร้องทุกข์มายัง สอบ. ได้ที่ Inbox facebook สภาองค์กรของผู้บริโภค อีเมล [email protected] หรือเบอร์โทรศัพท์ 081 134 9216 โดย สอบ. จะเป็นตัวแทนประสานงานไปยังบริษัท อาคเนย์ฯ และ คปภ. แทนผู้บริโภค

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค