ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการขนส่งและยานพาหนะ ประจำเดือนเมษายน 2567

อนุกรรมการด้านขนส่งฯ สภาผู้บริโภค ให้ความเห็นต่อสำนักงานการบินพลเรือน ออกมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารเครื่องบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2567 โดยมีนายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เป็นประธานที่ประชุม ได้พิจารณาให้ความเห็นต่อร่างข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ .. ว่าด้วยมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในเที่ยวบินแบบประจำภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้จัดให้มีการรับฟังความเห็น โดยร่างข้อบังคับฉบับนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 มาตรา 41/134 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการการบินพลเรือนในการออกข้อบังคับกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ กรณีปฏิเสธการรับขน ยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้า หรือสัมภาระสูญหาย เสียหาย หรือล่าช้า เพื่อประโยชน์สาธารณะและเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร รวมถึงเพื่อกำหนดสิทธิของผู้โดยสารให้เป็นไปตามหลักการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO Core Principle on Consumer Protection

โดยเนื้อหาข้อบังคับที่คณะอนุกรรมการขนส่งฯ ได้พิจารณาให้ความเห็น อาทิ ขอบเขตการคุ้มครองและการปฏิบัติต่อผู้โดยสารที่เป็นเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ และบุคคลที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เช่น การกำหนดนิยามความหมายของ “บุคคลที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้” ว่ามีลักษณะอย่างไร รวมถึงข้อกำหนดการต้องแจ้งต่อสายการบินเพื่อขอรับบริการช่วยเหลือเป็นพิเศษหรือแจ้งขอรับบริการกรณีมีความจําเป็น หรือการที่ต้องใช้สัตว์(สุนัข)นําทาง เป็นเวลาล่วงหน้าอย่างน้อย 48 ชั่วโมง ซึ่งในบางกรณีมีการวินิจฉัยโดยดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ทำให้เกิดการเลือกปฎิบัติต่อผู้บริโภคได้

ประเด็นที่สำคัญ คือ มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในเที่ยวบินแบบประจำภายในประเทศ และการแจ้งข้อมูลต่อ ผู้โดยสาร  กรณีเที่ยวบินล่าช่า การยกเลิกเที่ยวบิน หรือการปฏิเสธการขนส่ง อาทิ กรณีเที่ยวบินล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมง เห็นควรกำหนดให้สายการบินต้องชําระค่าชดเชยเป็นเงินจำนวน1,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารของสหภาพยุโรป EC 261/2004 รวมถึงหากมีความล่าช้าที่คาบเกี่ยวระหว่างวัน สายการบินต้องมีมาตรการจัดหาที่พักให้กับผู้โดยสารด้วย กรณีเที่ยวบินล่าช้า มีข้อสังเกตว่า การกำหนดช่วงระยะเวลาล่าช้าที่กำหนดเวลาล่าช้า 2 ชั่วโมง 5 ชั่วโมง และ 10 ชั่วโมง นั้น มีการอ้างอิงหลักเกณฑ์การกำหนดมาจากระเบียบหรือข้อกำหนดจากกฎหมายใด ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า การกำหนดความล่าช้าที่มากถึง 10 ชั่วโมงนั้นมากเกินไปจนกลายเป็นช่องทางในการปฏิเสธความรับผิดชอบในกรณีที่น้อยกว่าเวลาที่กำหนดได้ ขณะที่ในต่างประเทศส่วนใหญ่ใช้หลักเกณฑ์ความล่าช้าสูงสุดคือ 6 ชั่วโมง ดังนั้นจึงเสนอกำหนดระยะเวลาล่าช้าใหม่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงข้อกำหนดในการได้รับการชดเชยจากประกันการเดินทาง ซึ่งมักกำหนดไว้ที่ทุก 6 ชั่วโมง  และระเบียบของประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอะราเบีย โดยกำหนดเวลาล่าช้าที่สายการบินจะต้องมีมมาตรการรับผิดชอบต่อผู้โดยสารไว้ ที่ 1) กรณีล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป 2) กรณีล่าช้าเกิน 4 ชั่วโมงขึ้นไป และ 3) กรณีล่าช้าเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป