อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ หนุนจัดเวทีความร่วมมือกับ สคบ. เพื่อผลักดันให้ออกประกาศควบคุมสัญญาเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ แก้ปัญหาหลอกผู้บริโภคผ่อนบ้านติดจำนอง
ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาองค์กรของผู้บริโภค ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันพุธที่ 17 เมษายน 2567 มี ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ กรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาแนวทางการจัดกิจกรรมผลักดันการควบคุมสัญญาเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์
สืบเนื่องปัญหาจากการทำสัญญาเช่าซื้อของผู้ประกอบการที่ซื้อทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน จากกรมบังคับคดีแบบติดจำนอง เช่น บริษัทอีซี่โฮม ที่เข้าไปซื้อทรัพย์ติดจำนองจากกรมบังคับคดีโดยไม่ปิดจำนอง แล้วนำมาทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้บริโภค และใช้สัญญาที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบอย่างมาก อีกทั้งยังสร้างความเสียหายหลายด้าน เช่น ต้องชำระค่าผ่อนบ้านกับธนาคารเหมือนเดิม ในขณะที่ต้องชำระค่าบ้านให้บริษัทฯ ด้วย ทำให้เสียค่าใช้จ่ายทั้ง 2 ทาง และหากผิดสัญญากับธนาคาร หรือไม่สามารถผ่อนชำระได้โดยต่อเนื่อง ก็จะโดนธนาคารฟ้องร้องบังคับคดี และต้องเข้าไปสู่กระบวนการของกรมบังคับคดีเหมือนเดิม โดยหากแพ้คดี จะต้องชำระส่วนต่างขอมูลค่าทรัพย์นั้น แต่หากขายทรัพย์ได้เกินกว่ามูลค่าทรัพย์ บริษัทจะเป็นผู้ได้ส่วนต่าง เนื่องจากเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นชอบให้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็น เพื่อผลักดันข้อเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคออกประกาศควบคุมสัญญาเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์เหมือนกับที่เคยออกประกาศควบคุมสัญญาเช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ไปแล้ว โดยให้มีการจัดประชุมความร่วมมือระหว่าง สภาผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา นักกฎหมาย ทนายความ ผู้พิพากษา นักวิจัยโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาในทุกด้าน และกลุ่มผู้เสียหายจากการทำสัญญาเช่าซื้อทรัพย์ติดจำนองจากบริษัท
นอกจากนี้คณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ ยังได้ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการติดตามการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ของกรุงเทพมหานคร และติดตามการแก้ไขข้อกฎหมายควบคุมอาคารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) นั้นคณะอนุกรรมการฯ เห็นควรให้สำนักงานสภาผู้บริโภคจัดประชุมร่วมกับเครือข่ายที่ติดตาม ผลักดััน ขับเคลื่อนประเด็นการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อหารือ และกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน และรวบรวมข้อมูลอาคารที่มีลักษณะเข้าข่ายผิดกฎหมายทั่วกรุงเทพมหานคร โดยเน้นไปที่โครงการที่สร้างแล้ว และไม่ตรงกับเอกสารที่ยื่นตรวจสอบ EIA พร้อมกับให้เปิดเผยข้อมูลอาคารผิดกฎหมายทั่วกรุงเทพมหานคร โดยให้เชื่อมโยงกับประเด็นผังเมืองที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขหรือการบังคับใช้กฎหมาย และให้จัดทำข้อเสนอนโยบายเรื่องอาคารผิดกฎหมาย และเรื่องการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป