ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ประจำเดือนเมษายน 2567

อนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาผู้บริโภค เห็นชอบสนับสนุนโครงการศึกษาสถานบริบาล (Nursing Home) ที่ให้บริการรับดูแลผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อพัฒนามาตรฐาน และการให้บริการผู้สูงอายุ และโครงการศึกษาการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เพื่อให้เกิดมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 ซึ่งมี ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เป็นประธานที่ประชุม  ได้มีการพิจารณาและเห็นชอบให้มีการศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอ แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคในสองโครงการ คือ

โครงการแรกคือ โครงการศึกษาสถานบริบาล (Nursing Home) ที่ให้บริการรับดูแลผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อพัฒนามาตรฐาน และการให้บริการผู้สูงอายุ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษา สำรวจมาตรฐานและบริการรับดูแลผู้สูงอายุประเภท Nursing Home รายเดือน ที่เหมาะสมกับค่าบริการแและประเภทผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล  ศึกษาเปรียบเทียบบริการรับดูแลผู้สูงอายุประเภทสถานบริบาล (Nursing Home) ที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขไทย และเปรียบเทียบกับต่างประเทศ และศึกษาเกณฑ์การประเมินคุณภาพบริการของสถานบริบาล (Nursing Home) และการวัดคะแนน (scoring) ของสถานบริบาล (Nursing Home) ที่เป็นกลุ่มแฟรนไชส์ หรือ ท้องถิ่น หรือของเครือโรงพยาบาลที่เหมาะสม เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ในการยกระดับมาตรฐานของสถานบริบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และแนวทางแก้ไขปัญหาสถานบริบาลที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานต่อหน่วยงานเกี่ยวข้อง

โครงการที่สองคือ โครงการศึกษาการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เพื่อให้เกิดมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค  โครงการศึกษานี้มุ่งหวังให้มีการศึกษาทั้งรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ที่ผลิตออกจาโรงงานและ การนำรถยนต์สันดาปมาดัดแปลงเป็นรถพลังงานไฟฟ้าด้วย โดยมีวัตถุประสงค์การศึกษาที่สำคัญ คือ ศึกษาความเหมาะสมของระบบบริการขั้นพื้นฐานในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น จำนวนสถานีชาร์จต่อพื้นที่หรือความหนาแน่นประชากร หรือ จำนวนศูนย์บริการต่อจำนวนรถยนต์ สำรวจ เปรียบเทียบเชิงโครงสร้างของการพัฒนาการเปลี่ยนผ่านรถยนต์ไฟฟ้า(รถใหม่)ของไทยและการใช้รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เปรียบเทียบของประเทศไทยกับต่างประเทศ

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯได้เชิญ ดร.ธนาคาร  วงษ์ดีไทย นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย (ECAT) และนายอภิชัย ไตรภัทร กรรมการสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย และนักวิเคราะห์นโยบาย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)  เข้าให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการนำรถยนต์สันดาปมาดัดแปลงเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Conversion) กับคณะอนุกรรมการด้วย โดย ดร.ธนาคาร ได้ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีการทำรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) มาหลายปี และมีผู้ประกอบการที่สามารถดำเนินการดัดแปลงได้ดีหลายราย รวมถึงมีหน่วยงานภาคการศึกษา เช่น หน่วยงานในมหาวิทยาลัย สามารถทำได้เช่นกัน และนายอภิชัย ให้ข้อมูลว่า สอวช.ได้สนับสนุนทุนวิจัยในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง  และเห็นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรม EV Conversion จะต้องเร่งดำเนินการเพราะหากรถยนต์ไฟฟ้าที่ออกจากโรงงานมีราคาถูกลง จะทำให้รถ EV Conversion มีช่องว่างการได้เปรียบทางราคาที่แคบลงมาใกล้กัน ทำให้การตัดสินใจใช้รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงลดลงได้