ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ประจำเดือนเมษายน 2567

อนุบริการสาธารณะ พลังงานฯ เตรียมจัดทำความเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เสนอต่อ สนพ. กระทรวงพลังงาน เน้นผู้เชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระ และสภาผู้บริโภคมีส่วนร่วม

ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภคเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายสำคัญต่อการใช้อำนาจของรัฐบาลผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผนพลังงานด้านต่างๆของประเทศ จึงเห็นควรที่คณะอนุกรรมจะได้พิจารณาและให้ความเห็นต่อกฎหมายฉบับนี้

ดังนั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2567 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 4/2567 ซึ่งมี ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมนโยบายผู้เชี่ยวชาญ เป็นประธานในที่ประชุม จึงได้เชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาให้ความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ได้ให้ข้อมูลสรุปใจความสำคัญได้ว่า กพช. เกิดขึ้นภายหลังจากการมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินกิจการพลังงานไฟฟ้า และก่อนที่จะมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่มีหน้าที่เป็นผู้กำกับกิจการพลังงานไฟฟ้า (Regulator) โดย กพช. มีบทบาทเป็นผู้มีกำหนดนโยบายพลังงาน (Policymaker) โดยที่โครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยยังเป็นโครงสร้างแบบรวมศูนย์อำนาจ มีเพียง กฟผ. เป็นผู้ผลิต ขณะที่มีการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค (กฟภ.) เป็นผู้จำหน่าย ซึ่งผู้ประกอบการเอกชนจะถูกบังคับขายไฟฟ้าให้กับรัฐ ขณะที่ในปัจจุบันโครงสร้างกิจการไฟฟ้ามีความเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร การมีผู้กำหนดนโยบายในรูปแบบเดิมจึงอาจมีความไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีองค์ประกอบอื่น ๆ มาจากรัฐมนตรี (ข้าราชการการเมือง) และข้าราชการประจำ ซึ่งมีเป้าประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์กลาง (Focal point) ในการดำเนินงานข้ามกระทรวง ซึ่งเป็นหลักคิดเดียวกันกับกฎหมายอื่น ๆ อีกจำนวนมากของประเทศ เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายพลังงาน ที่เป็นอิสระและมีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานโดยเฉพาะ เนื่องจาก “โจทย์” หรือ “ความท้าท้าย” ด้านสิ่งแวดล้อม นั้นมีความ “ยาก” และเป็นพลวัตร ดังนั้น กพช. จึงควรเน้นที่ความเชี่ยวชาญด้านพลังงานโดยมองภาพพลังงานอย่างรอบด้านมีลักษณะเป็นคณะกรรมการในการระดมทางความคิด(Think tank) ไม่ควร “เทอะทะ” จนเกินไป ประเด็นความเป็นกลางและอิสระเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าการกำหนดและใช้นโยบายพลังงานอาจส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ดังนั้นจุดที่สร้างนโยบายขึ้นมาควรเป็นการสร้างโดยความเชี่ยวชาญที่แท้จริง และควรมีภาคเอกชนและประชาสังคมเข้าไปถ่วงดุลน้ำหนัก ไม่ควรใช้การสั่งการแบบบนลงล่าง (Top-Down) เช่นในปัจจุบัน  หลังรับฟังข้อมูลแล้วคณะอนุกรรมการฯ จึงมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำร่างความเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ภายในวันที่ 23 เมษายน 2567 โดยให้นำข้อคิดเห็นที่ประชุมไปประกอบการดำเนินการด้วย