ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านบริการสุขภาพ ประจำเดือนเมษายน 2567

คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ จับมือผู้แทนผู้ประกันตนทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตน เกาะติดการผลักดันนโยบายพัฒนาระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวต่อเนื่อง

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ครั้งที่ 10/2567 วันพุธที่ 10 เมษายน 2567 ซึ่งมีนางสาวสุรีรัตน์  ตรีมรรคา กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค เป็นประธานที่ประชุม ได้ติดตามผลการจัดการหารือเรื่อง แนวทางการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 ณ สำนักงานสภาผู้บริโภค มีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ (ผู้ประกันตนฝ่ายนายจ้าง) นางสาวนลัทพร ไกรฤกษ์ นายชลิต รัษฐปานะ นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน นางลักษมี สุวรรณภักดี (ผู้ประกันตนฝ่ายผู้ประกันตน) นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร นายไชยวัฒน์ วรรณโคตร (ทีมประกันสังคมก้าวหน้า) นายสมชาย กระจ่างแสง นายขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย (อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ) และทพญ.มาลี วันทนาศิริ ภาคีเครือข่ายผู้บริโภค โดยผลการหารือดังกล่าวสามารถสรุปได้ดังนี้

1. เสนอให้มีการจัดประชุมหารือการปรับปรุงร่าง พรบ. ประกันสังคม กรณีไม่ต้องจ่ายค่าบริการสุขภาพ และนำเงินสมทบเรื่องสุขภาพเพิ่มเติมในบำนาญชราภาพ

2. ให้สภาผู้บริโภคจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน กรณี สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม และการรักษาโรคมะเร็งต่อสำนักงานประกันสังคม และคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตน ซึ่งรวมถึงข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับปรุงสิทธิประโยชน์เทียบเท่าระบบหลักหลักประกันสุขภาพโดยอัตโนมัติ นโยบาย quick win ด้านทันตกรรม การยกเลิกสำรองจ่ายเงิน

3. นโยบายด้านบริการสุขภาพของคณะกรรมการประกันสังคม ที่ประชุมเสนอให้ผู้ป่วยกลุ่มโรคร้ายแรงจำนวน 8 โรค เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ ควรมีสิทธิในการรักษาที่เทียบเท่ากับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และควรให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพได้

4. แนวทางความร่วมมืออื่น ๆ เช่น เสนอให้มีการปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการประกันสังคม และการเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการภาคประชาชนหรือผู้ประกันตนในคณะกรรมการการแพทย์แพทย์ รวมทั้งเปิดให้มีการสมัครคณะกรรมการบอร์ดแพทย์ การเพิ่มศักยภาพการรับเรื่องร้องเรียนของสายด่วน 1506 พร้อมทั้งให้มีการสนับสนุนและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ตลอดจนการจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) และการสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้ประกันตนร่วมกันในอนาคต

ในการปะชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพครั้งนี้ ยังได้ติดตามผลการจัดทำข้อเสนอการพัฒนาระบบและกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคต่อการบริการเสริมความงาม ซึ่งสภาผู้บริโภคได้เคยมีหนังสือไปถึงกรมสนับสนุนและบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 เพื่อให้ออกข้อบังคับหรือกฎกระทรวงสาธารณสุขในการกำกับดูแลการประกอบกิจการสถานพยาบาลให้มีมาตรฐาน และมาตรการชดเชยเยียวยาความเสียหายต่อผู้ใช้บริการที่ชัดเจน ทั้งนี้กรมสนับสนุนและบริการสุขภาพ ได้มีหนังสือตอบกลับมายังสภาผู้บริโภคเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ให้ข้อมูลโดยสรุปว่า มีการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลในการควบคุมดูแลสถานพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีการควบคุมการขออนุญาตสถานพยาบาลตามที่กฎหมายกำหนด โดยประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลสถานพยาบาลได้จากเว็บไซต์ และมีการให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความรู้ประชาชนผู้รับบริการเสริมความงาม ตลอดจนเฝ้าระวังบริการเสริมความงามที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างใกล้ชิด  ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นชอบให้มีการติดตามการออกแนวปฏิบัติ และการปรับปรุงกฎหมายเพื่อกำหนดลักษณะเฉพาะของสถานพยาบาลเสริมความงาม และให้จัดเวทีร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ปัญหา ข้อร้องเรียน และแนวปฏิบัติ และแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยเชิญเครือข่ายองค์กรสมาชิก และสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย (ThPRS) เข้าร่วมเวทีด้วย