อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคารห่วงปัญหาหนี้สินคนไทย เร่งจัดทำหลักสูตรและจัดอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรองค์กรสมาชิกให้เป็น “หมอแก้หนี้” พร้อมจัดตั้งศูนย์ปรึกษาปัญหาหนี้สินในระดับครัวเรือนของสภาผู้บริโภค
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อในระบบที่อยู่ในเครดิตบูโรในปัจจุบัน (มีนาคม 2565) พบว่า มีคนไทยเป็นหนี้สูงถึง 37% หรือคิดเป็นราว 1 ใน 3 ของประชากรไทยและสัดส่วนคนที่มีหนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดย 57% ของคนไทยที่มีหนี้จะมีหนี้เกิน 100,000 บาท มีหนี้โดยเฉลี่ย 3 บัญชีต่อคนและ 32% มีหนี้ 4 บัญชีขึ้นไป ซึ่งภาพรวมมูลค่าหนี้ของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2567 ซึ่งมีนายกมล กมลตระกูล กรรมการนโยบาย และประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ปัญหาหนี้ของประชาชนในภาคครัวเรือนและเห็นชอบให้ดำเนินโครงการพัฒนาองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภคให้เป็นศูนย์ที่ปรึกษาแก้ปัญหาหนี้สินในระดับครัวเรือนของสภาผู้บริโภค ซึ่งมีขั้นตอนดำเนินการในขั้นแรกคือ การจัดทำหลักสูตรการจัดการบริหารหนี้สำหรับประชาชน โดยแบ่งระดับการเรียนรู้เป็น 3 ลำดับ 1) ระดับต้น (ความรู้เรื่องหนี้) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถให้คำแนะนำการแก้ไขปัญหาหนี้แก่ลูกหนี้ได้ โดยมีเนื้อหา สิทธิพื้นฐานของลูกหนี้ รู้จักประเภทของหนี้ สัญญากู้ยืมเงินประเภทต่างๆ และหลักประกันการเป็นหนี้ กระบวนการกฎหมายเมื่อผิดนัดชำระหนี้จนถึงล้มละลาย การรับมือเจ้าหนี้ และการบริหารจัดการหนี้ 2) ระดับกลาง (การสำรวจรวจหนี้และประเมินความเสี่ยง) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมวิเคราะห์และออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเนื้อหา สำรวจฐานะทางการเงิน/สภาพหนี้ และการบันทึกข้อมูล วิเคราะห์สภาพหนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา เทคนิคการจัดการปัญหาหนี้ และทำแผนบริหารจัดการหนี้และการบริหารใช้เงินอย่างฉลาด และ 3) ระดับสูง (แผนบริหารจัดการหนี้และฝึกปฏิบัติ) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมทำแผนบริหารหนี้ได้ โดยมีเนื้อหา การทำแผนบริหารจัดการหนี้และการบริหารใช้เงินอย่างฉลาด การบริหารจัดการหนี้อย่างยั่งยืน ฝึกปฏิบัติในการแก้ไขปัญหา
เป้าหมายของโครงการนี้คือ การพัฒนาบุคลากรขององค์กรสมาชิกเป็น “หมอแก้หนี้” และการทำให้องค์กรสมาชิกสามารถดำเนินการจัดตั้งศูนย์แก้ปัญหาหนี้ให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนั้น ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงินครั้งนี้ ยังได้ให้ความเห็นชอบต่อรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการฯ ในรอบ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย สภาผู้บริโภคได้พิจารณาและให้ข้อแนะนำต่อการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ต่อไป